“นิว18”รับรางวัล“สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน”

2019-01-24 18:40:33

“นิว18”รับรางวัล“สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน”

Advertisement

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” มอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 “นิว 18” รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ จากผลงานเรื่อง “วิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ควันปืนที่บดบังข้อเท็จจริง”

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 ม.ค.ที่โรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบ “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2561 โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือนครูผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม


นายสมชาย กล่าวต่อว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้

รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานชุด “ผู้ต้องกักและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง 101” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และรางวัลชมเชย 1 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ผลงานชุด “น้องนนท์...จากคนกีฬาชายขอบไร้สัญชาติ สู่วันที่คราบน้ำตาแห้งพร้อมสู้เพื่อชาวไทย” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานเรื่อง "บทเรียนจากแดนประหารจากช่างภาพญี่ปุ่น-โทชิ คาซามะ” เว็บไซต์สนุกดอทคอม และรางวัลชมเชย 4 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เปิดตาตีหม้อ-สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด” เว็บไซต์ the101.world ผลงานเรื่อง “ชีวิตยามเกษียณ: ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้” เว็บไซต์ประชาไท ผลงานเรื่อง “4 ปีรัฐประหาร: ความตายของชัยภูมิ ป่าแส สิทธิมนุษยชนยุคทหารที่ไร้คำตอบ” เว็บไซต์บีบีซีไทย และผลงานเรื่อง “In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด” เว็บไซต์ the101.world


รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวไม่เกิน 20 นาที) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ซ่อมVSซ้อม ธำรงวินัยทหารอดทน” สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ และผลงานเรื่อง “โรฮิงญากลางฤดูอพยพ” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ส่วนรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “วิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ควันปืนที่บดบังข้อเท็จจริง” สถานีโทรทัศน์นิวทีวี และผลงานเรื่อง“ค้ามนุษย์ข้ามชาติ” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวีเอชดี 36


สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณได้แก่ผลงานเรื่อง “ชีวิตหนี้มลาบรี” รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และผลงานเรื่อง “เคยมีคนชื่อ เด่น คำแหล้” รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36 ส่วนรางวัลชมเชยมี 1 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เด็กลูกแรงงานข้ามชาติกับการได้รับการศึกษา” รายการสปริงรีพอร์ต สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

นายสมชาย หอมลออ กล่าวต่อว่าในปีนี้ ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชน และยังจัดให้มีการปาฐกถาในหัวข้อ “เมื่อสื่อทำให้เสียงของเราไม่เงียบอีกต่อไป” โดย นายศักดา แก้วบัวดี นักแสดงและอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยในประเทศไทย และนางสุภาพ คำแหล้ ภรรยานักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกัน จ. ชัยภูมิที่หายตัวไปเมื่อปี 2559


นอกจากนั้นภายในงานยังมีการมอบโปสการ์ดให้กำลังใจจากผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ให้กับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงของไทยได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เพื่อยุติการอุ้มหายในประเทศไทย และภรรยาทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2547 น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ คุณแม่ลูกห้าและภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หายตัวไปเมื่อปี 2557 น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชนด้วย

นายสมชายได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของงานในวันนี้ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งที่ผ่านมาและจะทำต่อไป




สำหรับสถานีโทรทัศน์นิว 18 ได้รับรางวัลชมเชยประเภทผลงานข่าวโทรทัศน์ จากผลงาน “วิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ควันปืนที่บดบังข้อเท็จจริง” โดยนายพงษ์พิพัฒน์ จินดาศรี รองบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์นิว 18 ได้ขึ้นรับรางวัลระบุว่า ข่าวชิ้นนี้ ทีมข่าวได้ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540  ในการขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดจากที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในคดี โดยใช้เวลานานกว่า 8 เดือน เพราะต้องโต้แย้งข้อมูลในชั้นอุทธรณ์ กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร จนสุดท้าย คณะกรรมการฯได้มีมติให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยภาพวงจรปิดจากจุดเกิดเหตุ และเมื่อถึงวันนัดเปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าบันทึกเหตุการณ์ รายละเอียดการต่อสู้ของชัยภูมิถูกบันทึกทับไปแล้ว ทำให้ข้อเท็จจริงของการวิสามัญยังคงเป็นปริศนาต่อไป

ขอบคุณภาพ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย"