“บิ๊กอู๋” สั่งเอาผิดนายจ้างเหตุเครนถล่ม

2019-01-24 10:10:41

“บิ๊กอู๋” สั่งเอาผิดนายจ้างเหตุเครนถล่ม

Advertisement

รมว.แรงงาน สั่ง กสร.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย กำชับ สปส.ดูแลสิทธิประโยชน์แก่ทายาทกรณีลูกจ้างเสียชีวิตและคุ้มครองผู้บาดเจ็บตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเครนถล่มขณะคนงานกำลังต่อเครนเพื่อก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูแห่งหนึ่งย่านถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กทม.จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ได้แก่ นายวิฑูรย์ ชัยมี นายษิน การสกุล นายวิชา กามีอ้าย นายธนโชค บริครุฑ และนายเติมศักดิ์ ศรีพิทักษ์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 4 คน และเมียนมา 1 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำผู้บาดเจ็บส่ง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ 3 คน ได้แก่ นายสวิง พรรษา นายประรุนัน พรรษา ได้รับบาดเจ็บสาหัส และนายไพโรจน์ รสซุ่ม ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ สำหรับผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย เจ้าหน้าที่นำส่ง รพ.เลิดสิน ได้แก่ นายมิน อู สัญชาติเมียนมา ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ และนายยอดรัก ติณะมาศ แพทย์ให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)จะจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทของลูกจ้างที่เสียชีวิตจากการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เป็นค่าทำศพจำนวน 40,000 บาท ท่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลา 10 ปี และทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลวงเงิน 50,000 บาทถึง 1 ล้านบาท กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ค่าทดแทนกรณีหยุดงานร้อยละ 70 ของค่าจ้างโดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี ค่าทดแทนกรณีสูญเสียไม่เกิน 10 ปี กรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งแบ่งเป็นค่าฟื้นฟูด้านอาชีพ 24,000 บาท และค่าฟื้นฟูด้านการแพทย์ 24,000 บาท

รมว.แรงงาน ยังได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ตามมาตรา 14 ในกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานบทลงโทษ มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวินามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย ในกรณีนายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตราบต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน ทั้งนี้ มาตรา 56 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 57 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีมาตรการในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด โดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศหรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506