“ธนาธร”ชูแก้ ก.ม.ทำลายระบบผูกขาดส่งออกข้าว

2019-01-15 23:15:05

“ธนาธร”ชูแก้ ก.ม.ทำลายระบบผูกขาดส่งออกข้าว

Advertisement

"อนาคตใหม่" เปิดเวทีอำนาจเจริญ “ธนาธร”ชี้ผูกขาดโควต้าส่งออกข้าว ต้นเหตุชาวนายากจน​ ลั่นแก้กฎหมายทำลายระบบผูกขาด

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ จ.อำนาจเจริญ นาย​ธ​นา​ธร​ จึง​รุ่งเรือง​กิจ​ หัวหน้า​พรรค​อนาคต​ใหม่​ พร้อมด้วยนาย​ปิยบุตร​ แสง​กนก​กุล​ เลขาธิการ​พรรค​ และ น.ส.​พรรณิการ์​ วา​นิช​ โฆษก​พรรค​ ร่วมเปิดเวทีพบปะประชาชน​ แนะ​นำนโยบาย​และเปิดตัวผู้สมัคร​ ประกอบไปด้วย เขต​ 1 นายประภาส​ เวชกรณ์ เขต​ 2​ นาย​สุชาติ​ สูงเรือง​ ที่โรงสีข้าวเกษตรธัญรุ่งเรือง​ ท่ามกลาง​ประชาชน​เข้าร่วม​รับฟัง​เป็น​จำนวนมาก

นายธนาธร กล่าวว่า ​อำนาจเจริญ​เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูก​ข้าว​หอม​มะลิ​ 105 ที่มีคุณภาพ​ดีเป็น​อันดับ​ต้นๆ​ ของประเทศ และ​เป็น​พืชเศรษฐกิจ​หลักของจังหวัด​ ซึ่งที่ผ่านมา​ชาวบ้าน​ได้รวมตัวกัน​จัดตั้งวิสาหกิจ​ชุมชน​ 56 ตำบล​ 616 หมู่บ้าน​ จนมีความเข้มแข็ง​ และพยายามผลักดันให้ข้าวของวิสาหกิจชุมชนสามารถส่งออกได้ แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านวิสาหกิจ​ชุมชน​ ต้อง​ประสบกับปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถส่งออกโดยตรงได้​ แต่​ต้อง​ผ่าน​พ่อค้าคนกลาง​และสมาคม​ที่กรุงเทพฯ​ ซึ่งกดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม

"พรรคอนาคตใหม่ ได้ทำการ​ศึกษา​วิจัย​ปัญหานี้มาระยะหนึ่งแล้ว​ สามารถบอกได้ว่าปัญหาเกิดจากระบบการผูกขาดโควต้าส่งออก​ข้าว​ จากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม​ บังคับให้ต้องมีสถานที่เก็บข้าว​สารความจุขั้นต่ำไม่น้อยกว่า​ 500 ตัน กรณีมีทุนจดทะเบียน​ไม่เกิน​ 20 ล้านบาท​ และไม่น้อยกว่า​ 1,000 ตัน กรณีมีทุนจดทะเบียน​เกิน​ 20 ล้านบาท​ พร้อมกับเงื่อนไขอื่นๆ​ที่เอื้อประโยชน์แต่กับเฉพาะกลุ่ม​ทุนขนาดใหญ่​ และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถ​เข้าถึงโอกาส​ได้ ต่อปัญหานี้​ พรรค​อนาคต​ใหม่​ มีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะทำลายระบบการผูกขาดนี้ลง​ ด้วยการแก้กฎหมายให้มีความเป็นธรรม​ รวมถึงผลักดันนโยบายเกษตรก้าวหน้า​ ซึ่งจะเน้นไปที่การสนับสนุน​ส่งเสริมความเข้มแข็ง​ของวิสาหกิจ​ชุมชน​ ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีของรัฐให้แก่เกษตรกร" นายธนาธร กล่าว

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ย้ำว่า สิ่งที่เราจะทำคือการลงทุนสร้างโรงงานให้เกษตรกร​ ​เอาเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์​ เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต แล้วค่อยๆ เปลี่ยนยอดขายของเกษตรกร​ให้เป็นหุ้น​ จนเกษตรกรได้เป็นเจ้าของ​ 100%​ ได้รับส่วนแบ่งรายได้ส่วนใหญ่ในภาคเกษตรอย่างแท้จริง