เรือดำน้ำสำรวจ “เฉินไห่ หย่งฉี” หรือนักรบใต้ทะเลลึก ที่มีมนุษย์ควบคุมในเรือของจีน เสร็จสิ้นภารกิจดำน้ำครั้งแรกของปีนี้ เมื่อวันอังคารที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ด้วยการลงไปเก็บตัวอย่างหินและสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกเพื่อทำการศึกษาวิจัย
ทางการจีนเผยว่า เรือดำน้ำเฉินไห่ หย่งฉี ถูกปล่อยลงน้ำเมื่อเวลา 07.30 น. และดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร ในระดับความลึก 3,300 เมตร หรือ 3.3 กิโลเมตร ก่อนจะกลับขึ้นสู่เรือแม่บนผิวน้ำ พร้อมกับตัวอย่างหินรวมน้ำหนัก 170 กิโลกรัม และสัตว์น้ำหลากหลายชนิด รวมเวลาอยู่ใต้มหาสมุทรอินเดียครั้งนี้กว่า 9 ชั่วโมง
นายผ่าน อี้เหวิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง กล่าวว่า ตอนนี้คณะนักวิทยาศาสตร์จีนกำลังวิตกกังวล ว่าตัวอย่างวัตถุเพื่อการวิจัยอันล้ำค่า ที่เก็บจากใต้ทะเลลึกจะเกิดการปนเปื้อน ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจะสร้างปัญหาอย่างมหาศาล
เรือดำน้ำนักรบใต้ทะเลลึกลำนี้ พัฒนาโดยจีน 95 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สำคัญ เช่น ห้องปฏิบัติการสำหรับลูกเรือ ระบบการสื่อสารทางเสียงใต้น้ำ และระบบวัดความลึกของทะเลด้วยเสียงแบบดอปเปลอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ล้ำหน้า และความมั่นคงทางเทคนิค