ถึงตอนนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านสภานิติบบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาแก้ไขปรับปรุง
กรรมาธิการร่วมจะประกอบด้วย 3 ส่วนรวม 11 คน คือ สนช.5คน,กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 5 คน และตัวแทนกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)1คน แก้ไขเสร็จแล้วส่งเข้าที่ประชุม สนช.หากที่ประชุมเห็นชอบก็ผ่าน หากที่ประชุมเกิน 2 ใน 3(จาก250คน)ไม่เห็นชอบก็ต้องไปนับหนึ่งกันใหม่ คือให้ กรธ.ยกร่างใหม่เพื่อเสนอ สนช.
ประเด็นของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เถียงกันไม่เสร็จในขณะนี้ก็คือ การเลือกตั้งเบื้องต้นหรือ”ไพรมารีโหวต”ตามร่างที่ผ่าน สนช.มานั้นชูธงอย่างสูงเด่นว่า นั่นคือการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน เป็นการสลัดการครอบงำของผู้มีอิทธิพลหรือนายทุนที่ครอบงำพรรคแต่เพียงผู้เดียว..การเริ่มต้นครั้งแรกอาจขลุกขลักบ้างแต่เชื่อว่าต่อๆไปจะดีขึ้น
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มองว่า แม้โดยหลักการจะเห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หากเดินตามตัวบทกฎหมายที่ผ่าน สนช.มาจะปฏิบัติได้ยากยิ่ง ไม่สอดคล้องความจริงของการเมืองไทย อีกทั้งอาจขัดกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญใน 3 ประการ
วานนี้(25 มิ.ย.)คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทำจดหมายเปิดผนึกความยาวรวม 7 หน้ากระดาษถึง กรธ. ผมอ่านเหตุผล รายละเอียด และข้อเสนอดูแล้วเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังเพราะไม่ได้เป็นข้อเสนอที่มุ่งเอาชนะคะคานหรือเอาเป็นเอาตาย..ขอยกตัวอย่าง1จาก5ข้อเสนอ(กรณีตั้งกรรมาธิการร่วม)
3)หากยืนยันให้มีการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นก็ควรให้ กกต.และรัฐให้การสนับสนุนตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้งการดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศสามารถมาลงคะแนนได้อย่างสะดวก
ครับดีกรีก็ประมาณนี้..หากจะเดากันเล่นๆท้ายสุดกรรมาธิการร่วมก็อาจเดินทางสายกลาง เพื่อให้ พ.ร.ป.นี้ผ่านไปได้