สหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศปลดไทยออกจากบัญชีรายชื่อ กลุ่มประเทศที่ได้รับ "คำเตือน" หรือใบเหลือง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู ซึ่งเป็นการยอมรับความพยายามของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
แถลงการณ์ของนายคาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง. จากสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันอังคาร ระบุว่า การต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของอียู และวันนี้อียูมีหุ้นส่วนใหม่ในการต่อสู้
รายงานระบุว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียว ที่ได้รับการพิจารณาปลดใบเลืองการประมงผิดกฏหมาย ในครั้งนี้
ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่เป็นสถานะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ได้มาจากการทำประมงโดยผิดกฎหมาย และจากการพึ่งพาแรงงานค้ามนุษย์ค่าจ้างต่ำ จากหลายประเทศเพื่อนบ้าน
ในปี พ.ศ. 2558 สหภาพยุโรปให้ "ใบเหลือง" เตือนไทย และขู่จะห้ามนำเข้าอาหารทะเลของไทยทั้งหมด เว้นแต่รัฐบาลทหารของไทยจะแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิแรงงาน ที่มีอยู่ทั่วไป
อียู ตลาดผู้บริโภคราว 500 ล้านคน เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงรายใหญ่สุดของโลก กรรมาธิการอียูประเมินว่า มูลค่าของการประมงผิดกฎหมายทั่วโลก สูงถึง 10,000 - 20,000 ล้านยูโร หรือ 365,362 - 730,725 ล้านบาท.