“วิษณุ”แนะ กกต.ส่งศาลตีความปม 150 วัน

2019-01-07 17:40:48

“วิษณุ”แนะ กกต.ส่งศาลตีความปม 150 วัน

Advertisement

“วิษณุ” แนะ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหากมีข้อสงสัยเรื่องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน แต่ถ้าเลือกตั้งรับรองผลให้เสร็จภายใน 9 พ.ค. ทุกอย่างก็จบ

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการถกเถียงเรื่องการจัดเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ รวมอีก 60 วัน ในการรับรองผลการเลือกตั้งด้วย ว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงอย่างที่มีข้อสงสัย เพราะเกี่ยวข้องกับมาตรา 85 และมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 85 บัญญัติว่าต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ในมาตรา 268 เขียนว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน เมื่อมีข้อสงสัยจึงอยู่ที่การบริหารจัดการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยการพูดคุยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือถึงเรื่องนี้ด้วย แต่ตนไม่ได้ติดใจในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลไม่มีส่วนได้เสีย ถ้า กกต.มีความสงสัย อาจหารือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคิดว่ามีความชัดเจนแล้ว ทุกอย่างก็จบ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กกต.บอกว่ามีวิธีบริหารจัดการได้ ถ้าเขาจัดการเลือกตั้งและนับคะแนนให้เสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค.ด้วย ก็จบเรื่อง เพียงแต่ถ้าวันเลือกตั้งถูกขยับไปไกล การจะรับรองผลให้ทันวันที่ 9 พ.ค. อาจจะสั้นไปหน่อย แต่กกต.อาจบริหารจัดการได้ก็ได้ ขณะที่รัฐบาลเห็นว่า 150 วันเป็นกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้ง แม้ยังไม่มีใครยืนยันว่าการเลือกตั้งและการรับรองผลเลือกตั้งจะต้องทำภายใน 150 วันหรือไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะถ้าเลือกตั้งและรับรองผลการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. ทุกอย่างก็จบ

เมื่อถามว่า ถ้า กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้การเลือกตั้งยิ่งช้าอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ช้า เพราะตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ ต่อข้อถามถึงข่าวที่ กกต.เสนอให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. นายวิษณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ กกต. เพราะส่วนตัวไม่ได้ติดใจ แต่ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่าเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จะต้องกราบบังคมทูลเสด็จฯ ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วัน และจะต้องคิดเผื่อด้วยว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจระหว่างนั้น จะเสด็จเปิดประชุมรัฐสภาได้อย่างไร ดังนั้นการจะประกาศผลการเลือกตั้ง จึงต้องดูว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจใดหรือไม่ 

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมา และไม่ทราบว่ามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วหรือไม่ ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนายกรัฐมนตรีจะต้องแถลงอย่างเป็นทางการต่อประชาชนและนานาชาติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น แต่ถ้ามีความจำเป็น ก็อาจมีการแถลง เพราะเรามีเหตุผลดีๆ ที่จะอธิบายให้โลกได้เข้าใจ ไม่ได้เลื่อนการเลือกตั้งอย่างส่งเดช ตนเชื่อว่าต่างประเทศอยากจะทราบว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องรอการประชุมเตรียมการ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 ม.ค.นี้ก่อน