นายกรัฐมนตรี ระบุต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย คือ การศึกษา ชี้ที่ผ่านมาปฏิรูปการศึกษา ลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ปัญหายังคงเรื้อรังรุนแรงขึ้น เผยรัฐบาลเดินหน้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีระบบรายงานข้อมูลให้มองเห็นสถานการณ์ เป็นเครื่องมือหน่วยงาน ต่าง ๆ ลดความเหลื่อมล้ำไม่ให้มีเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้ง
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า หนึ่งในต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยก็คือการศึกษา ที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ประเด็นการพัฒนา ปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ พยายามแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ ด้านมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีงบประมาณและลงทุนด้านการศึกษามากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ปัญหานี้ยังคงเรื้อรังและรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทาง เศรษฐกิจ สังคม เป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศไทย ในการที่จะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลนี้ได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาและผู้สนับสนุนจากหลายฝ่าย เร่งดำเนินการสำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณ ให้แก่กองทุน โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานี้ ต้องดูแลกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงกลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไปทั้งหมดรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.3 ล้านราย ซึ่งต้องดำเนินการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยอย่างตรงจุด และงบประมาณไม่รั่วไหล ในการนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดให้มีระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือเรียกว่าไอซี (iSEE) ที่เป็นระบบรายงานข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ของ กสศ.เพื่อจะช่วยให้ผู้ทำนโยบายมองเห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อไม่ให้มีเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้าวยว่า กสศ. และ สพฐ. ได้เริ่มดำเนินงานแล้วในปีการศึกษา 2561 และเมื่อมีการพัฒนาแล้วเสร็จระบบ iSEE จะประกอบ ด้วยข้อมูลของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบการศึกษา เชื่อมโยงกับเลขประจำตัว 13 หลักของเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ หรือ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ อาทิ สถานะครัวเรือน ภาพถ่ายสภาพบ้านเรือน รายได้ผู้ปกครอง ข้อมูลเด็กด้านสุขภาพ สภาพปัญหา พฤติกรรมเสี่ยง ความต้องการด้านการเรียน ความช่วยเหลือ อัตราการมาเรียน ผลการเรียน