กรมควบคุมโรคแนะวิธีรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก”

2019-01-03 12:05:07

กรมควบคุมโรคแนะวิธีรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก”

Advertisement

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในพื้นที่พายุโซนร้อน “ปาบึก” จัดเตรียมน้ำ อาหารแห้ง ไฟฉาย ยารักษาโรคให้พร้อม หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ควรหลบในตัวอาคารที่มีความมั่นคง ไม่ควรใช้โทรศัพท์ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า หากต้องขับขี่ยานพาหนะขอให้ประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ส่งผลให้เกิดลมพายุ ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกรมควบคุมโรค ซึ่งมีภารกิจในการดูแลด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น อันตรายจากลมพายุ อุบัติเหตุจากการจราจร การจมน้ำ และสัตว์มีพิษมีพิษกัดต่อย เป็นต้น

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับลมพายุ นั้น หากประชาชนอาศัยอยู่บริเวณริมน้ำหรือในพื้นที่เสี่ยงตามที่มีหน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือน ควรรีบเคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแล นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมน้ำ อาหารแห้ง ไฟฉาย ตลอดจนยารักษาโรคให้พร้อม โดยในช่วงฝนตกหนักและมีลมพายุ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ควรหลบในตัวอาคารที่มีความมั่นคง ไม่ควรใช้โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ในขณะที่ฟ้าร้องฟ้าผ่า ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะขอให้ประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัย และภายหลังการเกิดลมพายุไม่ควรเข้าไปใกล้บริเวณสิ่งหักพังหรือเสี่ยงต่ออันตราย หากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที โทร.1669 นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ เช่น โรคฉี่หนู โรคทางเดินหายใจ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น โดยประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือด้านการป้องกันควบคุมโรค ได้จากสำนักงานสาธารณสุขหรือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่

นพ.สวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ฝนตกหนักให้เตรียมรับมือกับน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อป้องกันความสูญเสีย ทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อป้องกันการจมน้ำ และขอให้ประชาชนยึดหลัก “3 ห้าม 2 ให้” โดย 3 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามเล่นน้ำ 2.ห้ามหาปลา เก็บผัก 3.ห้ามดื่มสุรา และ 2 ให้ ได้แก่ 1.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา และ 2.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยดูแลกันและกัน นอกจากนี้ ให้ระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย เนื่องจากในช่วงที่ฝนตกและมีน้ำท่วมฉับพลัน อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น รองเท้า ตู้เก็บของ ครัว เป็นต้น โดยหลังจากฝนตกแล้วควรตรวจสอบในจุดต่างๆ ของบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน และควรป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษกัดต่อย โดยไม่เข้าไปในที่รก ไม่แช่น้ำเป็นเวลานาน หากต้องลุยน้ำควรแต่งกายให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมพร้อมรับมือของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และพร้อมสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422