อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาระบุพายุโซนร้อน “ปาบึก” ไม่พัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่น คาดความแรงลมไม่ถึง 95 กม.ต่อ ชม.เคลื่อนขึ่นฝั่ง 3-5 ม.ค. นี้ ระบุ 4 ม.ค.ฝนหนักสุด 120-130 มิลลิเมตรต่อวัน ศูนย์กลางขึ้นฝั่งที่ อ.ละแม จ.ชุมพร
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์ของพายุโซนร้อนปาบึก ว่าจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยจะคลื่นตัวขึ้นฝั่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.ศูนย์กลางจะอยู่ที่ อ.ละแม จ.ชุมพร จะส่งผลให้ช่วงวันที่ 3 - 4 ม.ค.จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล โดยเฉพาะวันที่ 4 ม.ค.จะเป็นวันที่มีสถานการณ์ฝนหนักที่สุด จะมีฝนตกหนักเฉลี่ยต่ำอยู่ที่ 120-130 มิลลิเมตรต่อวัน เปรียบเทียบกับการใช้ที่ปัดน้ำฝนระดับ3 แต่ก็ยังไม่เห็นเส้นทาง และมีลมกระโชกแรง โดยในวันดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเกิดฝนตกหนัก ในพี้นที่ภาคกลางด้วย คือ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม รวมถึง กทม. และปริมณฑล
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนวันที่ 5 ม.ค.จะมีปริมาณฝนทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกเช่น จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต จากนั้นวันที่ 6-7 ม.ค.พายุจะเคลื่อนออกจากประเทศไทย ไปเข้าบังคลาเทศ ส่งผลให้สถานการณ์ฝนในไทยลดลง แต่ยังส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ความแรงลมอยู่ที่ประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจจะไม่ถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่มีการคาดการณ์ และไม่น่าจะพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่น ซึ่งขณะนี้ ความแรงลมอยู่ที่ประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อขึ้นชายฝั่ง คาดว่ากำลังลมจะไม่พัฒนาไปถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเมื่อถึงฝั่งจะมีตัวลดแรงเสียดทาน ทั้งภูเขา บ้านเรือนประชาชน ให้อ่อนกำลังลง แต่มีโอกาสเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ สตอร์มเซิร์ส บริเวณชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ บางสะพาน อ. ละแม อ.หลังสวน โดยพายุลูกนี้ มีกำลังแรงเทียบเท่า พายุโซนร้อนแฮเรียต ปี 2505
นายภูเวียง กล่าวต่อว่า ในช่วงวันที่ 3-4 ม.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนตัวเข้าไทย ต้องเฝ้าระวังการเกิดคลื่นสูง 3-5 เมตร ซึ่งพื้นที่จุดอันตราย 2 จุดคือตั้งแต่แนวชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด ไปถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชตอนบน และจุดที่ 2 ที่ศูนย์กลางพายุเพลื่อนเข้าหา จะเกิดลมแรง มีฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ที่บริเวณเกาะสมุย เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามโดยปกติในไทย จะไม่ค่อยเกิดพายุขึ้นในเดือน ม.ค. ส่วนใหญ่จะเกิดในเดือน พ.ย.-ม.ค. โดยสาเหตุการเก็ดพายุลูกนี้ เนื่องจากลักษณะ ของอากาศ และผิวน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน