แรดชวาฝูงสุดท้าย ชะตากรรมฝากไว้กับ”อานัค กรากาตัว”

2018-12-29 11:30:39

แรดชวาฝูงสุดท้าย ชะตากรรมฝากไว้กับ”อานัค กรากาตัว”

Advertisement

บรรดานักอนุรักษ์ส่งเสียงเตือน แรดชวาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง และมีเหลืออยู่ฝูงสุดท้ายในโลก บนเกาะชวาฟากตะวันตกของอินโดนีเซีย ความเสี่ยงจะกลายเป็นจริงในทันที หากภูเขาไฟ “อานัค กรากาตัว” เกิดปะทุระเบิดรุนแรงขึ้นมาอีกรอบ




แรดสายพันธุ์ชวาที่เคยใช้ชีวิตตามธรรมชาติในเขตป่าลึกแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ปัจจุบันมีเหลืออยู่บนโลกเพียงแค่ 67 ตัวเท่านั้น ในเขตอุทยานแห่งชาติอูจุง คูลอน ทางตะวันตกสุดของเกาะชวา ที่เพิ่งได้รับความเสียหายจากการปะทุระเบิดของภูเขาไฟ “เด็กน้อยขี้โมโห” อานัค กรากาตัว ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว






อานัค กรากาตัว ยังคงคุกรุ่น และตอนนี้เจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่าของอินโดนีเซียกำลังรีบเร่งวางแผนอพยพแรดชวาฝูงนี้ออกพ้นพื้นที่เสี่ยง






ตอนที่อานัค กรากาตัว ระเบิดจนทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซัดกระหน่ำแนวชายฝั่ง 2 ฟากของช่องแคบซุนดา เมื่อวันเสาร์สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 430 คน ในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอูจุง คูลอนรวมอยู่ด้วย 2 คน นอกเหนือจากอาคารบ้านเรือน และทรัพย์สินสิ่งของ พังทลายราบในวงกว้าง แต่แรดชวาในอุทยานฯ ไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากตามปกติพวกมันจะอาศัยอยู่ในป่าตามแนวชายฝั่งทางใต้ของอุทยาน แต่สึนามิเมื่อวันเสาร์พัดเข้าหาชายฝั่งทางเหนือ

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกล่าวว่า ถ้า อานัค กรากาตัว ระเบิดอีกรอบ แรดชวาฝูงสุดท้ายของโลกอาจจะไม่โชคดีอีก แรดชวาเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด ในบรรดาแรด 5 สายพันธุ์ และถูกขึ้นบัญชีอยู่ในประเภท “สีแดง” ที่ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” ไปจากโลก โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

เมื่อก่อนแรดชวาสามารถพบเห็นได้บ่อยในป่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประชากรของพวกมันลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว จากผลของการล่าของมนุษย์ รวมทั้งการสูญเสียถิ่นที่อยู่ จากการหักร้างถางป่าเพื่อทำการเกษตรของมนุษย์

แรดชวาตัวสุดท้ายในเวียดนามถูกล่าเมื่อปี พ.ศ. 2553 นายวิโดโด ซูโกฮาดี ราโมโน ประธานมูลนิธิแรดอินโดนีเซีย กล่าวว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินโดนีเซีย กำลังหารือวางแผนโยกย้ายที่อยู่ของแรดชวาฝูงนี้ โดยขั้นต้นจะอพยพบางส่วนก่อน เฉพาะแรดที่แข็งแรง มีความเป็นมิตรต่อกัน และสามารถผลิตลูกได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ สถานที่ใหม่จะต้องเป็นป่าที่มีพืชผักที่เป็นแหล่งอาหารของแรดชวา อย่างน้อย 200 ชนิด มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์พอเพียง มีชนิดของดินและสภาพที่ดินที่เหมาะกับแรด รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ต้องชื้นตลอดทั้งปี ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาสถานที่ใหม่อยู่ 10 แห่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่นาน