โรคติดเชื้อที่พบบ่อยจากสัตว์เลี้ยง

2018-12-27 17:55:20

โรคติดเชื้อที่พบบ่อยจากสัตว์เลี้ยง

Advertisement

ในปัจจุบัน การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัตว์เลี้ยงสามารถอยู่เป็นเพื่อนเราได้ สามารถช่วยคลายเครียด ทำให้มีความเพลิดเพลิน ช่วยเราทำงานบางชนิดได้ สัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมได้แก่ แมว สุนัข นก กระต่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงสัตว์มีส่วนช่วยในการบำบัดโรคได้ (Pet Therapy) โดยเชื่อว่าผู้ป่วยที่ได้สัมผัสสัตว์เลี้ยงในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีกำลังใจในการรักษาโรคต่าง ๆ ที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงก็อาจนำโรคมาสู่คนได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้งสัตว์เลี้ยงก็เป็นรังโรคของเชื้อโรคหลายชนิด โดยที่เชื้อโรคเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดโรคในสัตว์ แต่เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้ติดมายังคน สามารถทำให้เราเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่มาจากสัตว์เลี้ยงที่เรานิยมเลี้ยงกัน

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคนี้มีการระบาดในปีที่ผ่านมา โรคนี้นับเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก เพราะถ้าคนเป็นมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส rabies คนสามารถติดเชื้อโดยถูกสัตว์กัด หรือถูกสัตว์เลียที่บริเวณเยื่อเมือกหรือบริเวณแผลเปิด โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ซึ่งหมายความว่า พบได้ในสุนัข แมว หนู ค้างคาว ฯลฯ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายไหลมาก กลัวแสง กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว แล้วซึมลงในที่สุด การป้องกันโรคนี้ทำได้โดย

1. พาสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ

2. หากถูกสัตว์กัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงรับอิมมูนโกลบูลิน

3. ถ้าสังเกตอาการของสุนัข หรือแมวที่กัดได้ ควรสังเกตอย่างน้อย 10 วัน ถ้าภายใน 10 วัน สัตว์เสียชีวิต ควรติดต่อทางสถานเสาวภา เพื่อนำสัตว์ไปตรวจว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่

โรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย

มีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดสามารถติดต่อจากสุนัขหรือแมวมายังคนได้ ที่พบบ่อยเช่น เชื้อ campylobacter เชื้อ salmonella การติดเชื้อเกิดจากการที่คนไปสัมผัสกับมูลของสัตว์ แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก อาการที่พบคืออาจมีไข้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว รวมถึงอาจถ่ายเป็นมูกเลือดได้ ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ มักจะหายเองได้ การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองให้น้ำ และเกลือแร่ให้เพียงพอ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือในเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรงได้ เช่นมีการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไปมีการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เชื้อ salmonella อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อในข้อ หรือในกระดูก

การติดเชื้อพยาธิของสัตว์

เชื้อพยาธิของสุนัขหรือแมวอาจมาติดคนได้ โดยไข่ของพยาธิปนเปื้อนมากับมูลของสัตว์เหล่านี้ แล้วคนติดโดยการกินไข่ของพยาธิเข้าไป อาการที่พบคือตัวพยาธิจะไชไปตามที่ต่าง ๆ เช่นที่ผิวหนังก็จะทำให้เกิดอาการคัน อาจไปที่ทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอ หอบเป็นต้น ถ้าไปที่ตา ก็จะทำให้การมองเห็นผิดปกติได้

การติดเชื้อราของสัตว์

เชื้อราของสัตว์ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและขน ซึ่งติดมายังคนได้ถ้าไปสัมผัสกับผิวหนังของสัตว์ที่ติดเชื้อทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังที่เรียกว่าโรคกลาก ลักษณะเป็นวงแดง ๆ และคัน เชื้อรานี้อาจพบได้ในผิวของสุนัข แมว หรือกระต่าย

โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)

โรคนี้เกิดจากเชื้อปรสิตชื่อว่า Toxoplasma โดยปกติจะพบเชื้อนี้ในอุจจาระของแมว คนติดเชื้อนี้จากแมวโดยไปสัมผัสมูลของแมว แล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก หรือเชื้อจากมูลของแมวไปปนเปื้อนในดินและในผักที่รับประทาน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต แล้วหายเอง ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้มีอาการปอดอักเสบ ที่สำคัญคือมีการติดเชื้อในสมองทำให้มีอาการอ่อนแรงของแขนขาได้ ในหญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ ซึ่งอาจแท้งได้ ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการแต่กำเนิด เช่นมีการอักเสบของจอประสาทตา มีศีรษะเล็ก มีอาการชัก มีตับม้ามโต เป็นต้น ทารกบางคนที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด แต่มามีอาการในวัยเด็ก เช่นมีอาการชัก พัฒนาการช้า ตาบอดเป็นต้น ดังนั้นจึงมีการแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรไปสัมผัสมูลของแมว

โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

โรคนี้ตามชื่อเกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของหนู เช่นไปย่ำน้ำที่มีการปนเปื้อนของปัสสาวะหนู แต่พบว่าสามารถพบในปัสสาวะสุนัขได้เช่นกัน เชื้อนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเลปโตสไปรา (leptospira) อาการที่เกิดคือมีไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีภาวะไตวาย ตับอักเสบ และไอเป็นเลือดได้

โรคซิตาโคซิส (Psittacosis)

เป็นโรคที่ติดจากนกที่เลี้ยง เช่นนกแก้ว นกพาราคีท โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า คลามัยเดีย (Chlamydia psittaci) เชื้ออาจพบในมูลของนก ตามขนของนก แล้วคนหายใจเอาเชื้อนี้เข้าไป อาการของโรคจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้ง ๆ เจ็บหน้าอก มีอาการของปอดอักเสบ เป็นต้น

โดยสรุปโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลของสัตว์ ดังนั้น การป้องกันที่สำคัญคือพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจกับสัตวแพทย์เป็นระยะ รวมถึงการให้วัคซีนในสัตว์อย่างเหมาะสม นอกจากนี้แล้วควรมีการล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ หากถูกสัตว์กัดและมีแผลลึก มีเลือดออกควรไปพบแพทย์

อ.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล