ฟังชัด ๆ สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ไขปมคอร์ส NLP “ครูอ้อย”

2017-06-22 14:25:02

ฟังชัด ๆ สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ไขปมคอร์ส NLP “ครูอ้อย”

Advertisement

กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับ “ครูอ้อย” ฐิตินาถ ณ พัทลุง และคอร์ส “เข็มทิศจิตใต้สำนึก” หรือ “คอร์สเข็มทิศ NLP” ทาง “เว็บไซต์นิวทีวี18” จึงถือโอกาสนี้สอบถามข้อมูลไปยัง “สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย” เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ “NLP” ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลและความคิดเห็นดังนี้


ข้อ1 เอ็นแอลพี คือ อะไร

NLP ย่อมาจาก Neuro-linguistic programming คือ การโปรแกรมสมองผ่านการใช้ภาษา โดยใช้หลักการสื่อสาร จิตบําบัด สะกดจิตตนเองระดับผิวๆ ซึ่งช่วยให้คนสามารถดึงเอาศักยภาพที่อยู่ภายในตนเองออกมา เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิต เช่น การเพิ่มความกล้าในการพูดต่อที่ชุมชน


ข้อ2 ใครบ้างที่ให้การอบรมเช่นนี้ได้ (ต้องเป็นนักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์เท่านั้นหรือไม่)

ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน คนที่จบหลักสูตรนี้มาจํานวนมากเป็นผู้ให้การอบรมที่ไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว บุคคลใดก็ตามที่กระทําการหรือมีจุดมุ่งหมายกระทําการต่อมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการบําบัดรักษาโรค ป้องกันโรค ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพ ควรมีคุณสมบัติและอยู่ภายใต้การควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของกฎหมาย (กรุณาดูคําตอบข้อ 7 ประกอบ)


 ข้อ3 ผู้เข้าร่วมการอบรมควรมีลักษณะอย่างไร หรือ เป็นใคร

ผู้ที่จะเข้ารับการอบรมควรศึกษาและใช้วิจารณญาณ เนื่องจากผู้ที่เข้าอบรมส่วนมากต้องการบรรลุเป้าหมาย บางอย่างของชีวิต แต่หากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสวนทางกับสิ่งที่โปรแกรมไว้ ก็อาจจะเกิดความผิดหวัง ซึมเศร้า และ อาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย


ข้อ4 อบรมแล้วได้ผลอย่างไร

ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนประสบความสําเร็จ บางคนอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย ตามที่กล่าวในข้อ 3 อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามผลการบําบัดอย่างเป็นระบบ




ข้อ5 การอบรมเช่นนี้ทําเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือ กลุ่มใหญ่ๆ

สามารถจัดเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ก็ได้ แต่โดยปกติจะจัดกลุ่มใหญ่เพื่อเรียกพลัง หรือเป็นจิตวิทยาหมู่


 ข้อ6 กรณีเมืองไทยที่มีคนให้การอบรมเช่นนี้จํานวนมาก แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้นผ่านการอบรม และมีความรู้จริง

หน่วยงานรับผิดชอบต้องไปพิสูจน์ทราบ และประชาชนควรใช้ดุลพินิจร่วมด้วย


ข้อ7 กรณีของครูอ้อยมองอย่างไร

ในประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนจะได้รับบริการที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ


“การประกอบวิชาชีพที่กระทําหรือมุ่งหมายจะกระทําต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบําบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ ถือเป็นการประกอบโรคศิลปะ ตาม พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ




 ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่กระทําการต่อมนุษย์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต ให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ตาม พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 หรือประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ ย่อมเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้รับบริการก็จะไม่ได้รับสิทธิ์คุ้มครองคุณภาพ และมาตรฐานจากบุคคลนั้นตามที่กฎหมายกําหนด


 ***ในกรณีที่เป็นข่าวหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล หรือคณะบุคคลที่มีการดําเนินกิจกรรมที่ระบุไว้ตามพระราชบัญญัติในข้างต้นนี้ หรือตามกฎหมายอื่นที่บังคับใช่กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทยและสาธารณสุขอื่นๆ หากมีเรื่องร้องเรียน ก็จะต้องมีการพิจารณาในปัจจัยสําคัญ ได้แก่


 1.ลักษณะกิจกรรมที่ทําว่าเป็นลักษณะกิจกรรมที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นๆ นั้นหรือไม่


2.หากพบว่าเป็นกิจกรรมตามที่กําหนดไว้ ในพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือกฎหมายอื่นๆ ก็จะต้องมาพิจารณา คุณสมบัติของผู้ดําเนินกิจกรรมว่าเป็นไปตามที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นๆ หรือไม่


ข้อ8 กรณีนี้มีการนําหลักศาสนามาใช้ด้วยถือว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

การเอาหลักศาสนามาใช้สามารถทําได้ เพราะสิ่งที่ศาสนาสอนเป็นข้อเท็จจริง แต่ขึ้นอยู่กับการนํามาใช้ต้องดูวัตถุประสงค์ว่าเป็นไปเพื่อทําให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาเพิ่มขึ้นหรือไม่


ขอบคุณภาพ : เข็มทิศชีวิต ฐิตินาถ ณ พัทลุง