รพ.จุฬาลงกรณ์แถลง ทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทยคลอดแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เผยริเริ่มพัฒนาการบริการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เผยการให้กำเนิดทายาทเด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย และการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในอนาคต
ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน ที่ปรึกษาหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิสนธินอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว และฝากตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกในคนประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลก เกิดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2521) โดย Prof. Patrick Steptoe และ Prof. Robert G. Edwards ที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยทารกเป็นเพศหญิง หลุยส์ บราวน์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกเหตุการณ์และข้อคิดเห็นต่างๆ ในโอกาสที่ หลุยส์ บราวน์ อายุครบ 40 ปี ในวันที่ 25 ก.ค.2561 และได้แต่งงานมีบุตรสุขภาพแข็งแรง
สำหรับความสำเร็จครั้งแรกของฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ที่สามารถให้กำเนิดทารกเพศชายรายแรกของประเทศไทย คือ คุณปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ซี่งถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการรักษาคู่สมรสที่มีภาวะการมีบุตรยากนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2530 ภายใต้การดูแลของทีมคณาจารย์แพทย์ ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ รศ.นพ. กำธร พฤกษานานนท์ ทีมแพทย์วิสัญญี ร่วมด้วยทีมแพทย์มารดาและทารกแรกเกิด
รศ.นพ. กำธร พฤกษานานนท์ อาจารย์แพทย์ฝ่ายสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จนมีทารกที่เกิดจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล และคณะ ได้ติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทย หรือ คุณปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี อย่างต่อเนื่อง ได้เห็นถึงความสำเร็จทางการศึกษาโดยจบการศึกษาระดับปริญญาบัญฑิต จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างมาก จนกระทั่งทางฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้รับทราบข่าวดีอีกครั้ง เมื่อภรรยาของคุณปวรวิชญ์ สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ และมีกำหนดคลอดในวันที่ 16 ธ.ค.2561 ระหว่างการตั้งครรภ์ครอบครัวของคุณปวรวิชญ์ ได้มาฝากครรภ์และตรวจติดตามอาการที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ฝ่ายวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา นำทีมโดย รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าภาควิชา และ รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โดย รศ.นพ.บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ อ.นพ.ธีระภัทร เจริญวิทย์ และคณะ ซึ่งทารกมีการเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
รศ.นพ.กำธร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2561 ประมาณ 09.00 น. ภรรยาของคุณปวรวิชญ์ ได้ให้กำเนิดบุตร เป็นทารกเพศชาย น้ำหนักแรกคลอด 3,223 กรัม มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ภายใต้ความร่วมมือของคณาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กุมารเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา และทีมพยาบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคลอดบุตรที่บิดาเป็นเด็กหลอดแก้วรายแรกของประเทศไทย เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยาก ให้กำเนิดทารกที่เจริญเติบโต เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถแต่งงานและให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงได้
นายปวรวิชญ์ ศรีสหบุรี เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า มีความรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ตนเองมีทายาทคนแรก พร้อมทั้งได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นจากทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ของ รพ.จุฬาลงกรณ์
รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่หยุดพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการวิจัย และการบริการทางแพทย์แบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการผลักดันคุณภาพการบริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานโลก ดังตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนอกจากให้การบริการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากแล้ว ได้พัฒนาการบริการแช่แข็งเซลล์ไข่ของสตรี แช่แข็งตัวอ่อนและอสุจิในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ยังไม่พร้อมจะมีบุตรในช่วงอายุดังกล่าว โดยเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในด้านการขาดแคลนกลุ่มประชากรวัยทำงาน ซึ่งจากฐานข้อมูลของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (World Bank) พบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ของประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่าหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2040 หรือภายใน 22 ปี ซึ่งจัดว่าเป็นการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ฐานข้อมูลองค์การสหประชาชาติ; United Nations)
รศ.นพ.วิสันต์ กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากเทคโนโลยีดังกล่าว ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มพัฒนาการบริการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ (ovarian tissue cryopreservation) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร (fertility preservation) ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปจัดเป็นเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้เริ่มเปิดบริการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
รศ.นพ.วิสันต์ กล่าวต่อว่า กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หน่วยงานของเรายังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการวิจัยเชิงลึกเพื่อให้เกิดการส่งผ่านความรู้และสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงทางคลินิกปฏิบัติ ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชา ได้แก่ ความรู้ทางชีววิทยาการเจริญพันธุ์และวิศวกรรมชีวเวช เพื่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรังไข่ภายนอกร่างกาย (ovarian tissue culture) เพื่อนำไปสู่การคัดแยกเซลล์ไข่ (follicle isolation) เพื่อนำมาเลี้ยงภายนอกร่างกาย (in vitro culture) หรือเพื่อการนำมาสร้างเป็นรังไข่เทียม (transplantable artificial ovary) ในอนาคต เพื่อสร้างทางเลือกและแก้ไขปัญหาภาวะการเจริญพันธุ์สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและต้องการมีบุตร โดยองค์วามรู้ดังกล่าวเป็นการส่งผ่านความรู้ (technology transfer) จากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่า ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเป็นกลุ่มบุคลากรกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าว โดยยึดหลักการการก่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยเป็นสำคัญ