”ธนาธร” หวั่นเลือกตั้งทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ “ปิยบุตร” อัด “วิษณุ” โยนภาระให้ศาล ปลดล็อกไม่ยกคดีผิดหลักสากล
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. พรรคอนาคตใหม่จัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งที่จะไม่มีการพิมพ์โลโก้และชื่อพรรคว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มการทุจริตครั้งใหญ่ เนื่องจากมีกระบวนการไม่โปรงใสหลายกรณี เริ่มต้นตั้งแต่การแบ่งเขตการเลือกตั้ง การออกแบบบัตรเลือกตั้ง รวมไปถึงหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน แต่คนละหมายเลข ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่อแววการทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญต่อกรณีนี้ โดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนเข้าร่วมยื่นหนังสือแสดงจุดยืนกับกลุ่ม FFFE ต่อ กกต. หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ให้มีชื่อพรรคและโลโก้พรรคอยู่ในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งหาก กกต. ยืนยันจะใช้บัตรที่ไม่ระบุชื่อและโลโก้พรรค ทางพรรคอนาคตใหม่ขอเรียกบัตรเลือกตั้งนี้ว่าบัตรโกงเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่วังวนการเมืองแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดูด ส.ส. ซื้อหัวคะแนนด้วยวิธีที่ไม่โปร่งใส การใช้เงินภาษีประชาชนโดยอ้างเป็นนโยบายของรัฐ ทั้งที่ตลอด4ปี ไม่เคยมีการดำเนินการนโยบายเพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง กลับมีการดำเนินนโยบายแจกเงินประชาชนที่ถือบัตรคนจน ซึ่งการกระทำเหล่านี้คือการกลับไปสู่วังวนการเมืองแบบเก่า ที่มีให้เห็นมาตลอด
"ผมอยากเชิญชวน ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการถ่ายรูปกับปากกา ติดแฮทเทค #หยุดโกงบัตรเลือกตั้ง เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง และร่วมเป็นผู้สังเกตการ การทำงานของ กกต. และ คสช.ซึ่งเป็นทั้งผู้กำหนดกติกา ผู้คุมกฎ และผู้เล่นในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้เสียเอง พฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าไม่มีความเกรงใจประชาชน ไม่มีความละอายต่อเจ้าของอำนาจแท้จริง ทั้งที่รัฐบาล คสช.เรียกร้องคุณธรรมกับนักการเมืองมาโดยตลอด แต่การกระทำในขณะนี้ขัดแย้งกันมาก" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าว
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตัวขณะนี้ เป็นนักการเมืองเต็มตัวว่า แท้จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์และ 4 รัฐมนตรีที่อยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนักการเมืองมานานแล้ว แต่เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการยึดอำนาจของประชาชน รวมถึงการทำภารกิจต่างๆ ในฐานะรัฐบาล ซึ่งแยกไม่ออกว่า พูดในฐานะสมาชิกพรรคหรือรัฐบาล การกระทำเหล่านี้ คือการอาศัยตำแหน่งในรัฐบาลพูดโยงประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด จึงอยากจะเรียกร้องให้รัฐมนตรีทั้ง 4 ที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล แล้วเล่นการเมืองแบบยุติธรรมกับพรรคอื่นๆ เลิกเอาเปรียบ ส่วนประเด็นการปลดล็อกทางการเมือง ที่ประกาศให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้นั้น แท้จริงแล้วเป็นการปลดล็อกที่ไม่ได้ปลดล็อกจริง
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ตนตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ข้อ คือ 1.แม้จะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช.บางฉบับไปแล้ว แต่คดีความของประชาชนที่เป็นการละเมิดคำสั่ง คสช. ยังคงอยู่ ไม่มีการสิ้นสุดคดี ซึ่งตามหลักสากลระบุไว้ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ การคงไว้ซึ่งคดีความและมีการดำเนินคดีต่อ ถือว่า คสช. ละเมิดหลักกฎหมายสากล และการกระทำเช่นนี้ แสดงออกชัดเจนว่า คสช. มองประชาชนที่ต่อต้านเป็นศัตรู
“ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย อ้างว่า การคงคดีไว้ ก็เพื่อให้เป็นหน้าที่ของศาลในการพิจารณาตัดสินคดี หากศาลจะยกฟ้องหรือพิจารณาอย่างไร ก็เป็นดุลยพินิจของศาล เหตุผลนี้เป็นการโยนภาระให้ศาล ซึ่งคำสั่งของ คสช.ฉบับนี้ ออกมาโดยอาศัย ม.44 ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ เกิดศาลต้องการใช้หลักการ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ มาตัดสิน แต่ว่ามีคำสั่ง คสช. นี้ ที่บอกให้คดีเหล่านี้ดำเนินต่อไป ศาลจะทำเช่นไร ศาลจะมีอำนาจในการพิจารณายกฟ้องตามหลักสากลเหมือนที่เคยทำกันมาได้หรือไม่ เพราะศาลถูกคำสั่ง คสช.บังคับไว้ ให้มีการดำเนินคดีต่อ
กรณีล่าสุดคดีของนักวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรณีจัดงานเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ถูกดำเนินคดีฐานผิดคำสั่ง คสช. โดยคดีนี้มีการขึ้นศาล ทนายได้แจงต่อศาลว่า ขณะนี้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.แล้ว ต้องยุติการดำเนินคดี ซึ่งศาลได้สั่งงดสืบพยาน และกลับไปพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป กรณีตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่าศาลเองก็อาจไม่แน่ใจ พูดง่ายๆ ถ้าคำสั่ง คสช. ไม่เขียนยกเว้นให้ดำเนินคดีต่อไป ผมมั่นใจว่า ศาลก็จะสั่งยุติดำเนินคดีหรือยกฟ้องให้ทั้งหมด เหมือนที่เคยเป็นมาตามแนวคำพิพากษาศาล แต่พอมาเขียนยกเว้นแบบนี้ ก็เลยเกิดปัญหา” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตที่ 2 สื่อสารมวลชนยังไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมแนวทางของ คสช. ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง หากสื่อไม่มีเสรีภาพ เท่ากับว่าการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ชอบธรรม และ ข้อสังเกตที่ 3.แม้จะปลดล็อกแล้ว แต่ คสช.ยังมีอำนาจตาม ม.44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ดังนั้น คสช ยังมีอำนาจในการ ออกกฎที่ละเมิดสิทธิ์ประชาชนได้ตลอด จึงยืนยันว่าการปลดล็อกครั้งนี้ไม่ใช่การปลดล็อกจริง