รองเลขาธิการ กกต. เผยเสนอบัตรเลือกตั้ง 2 รูปแบบให้ 7 เสือ กกต.พิจารณาในสัปดาห์นี้ แจงโรดแม็ปเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 10-24 ม.ค.62 รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง 14-18 ม.ค.62 เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 4-16 ก.พ.
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าว "กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็ป" และประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการนำรูปแบบบัตรเลือกตั้งส่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณา เบื้องต้นกำหนดไว้ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบสมบูรณ์ ซึ่งมีโลโก้พรรค ชื่อพรรคการเมือง หมายเลขผู้สมัคร และช่องกากบาท ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ รูปแบบสำรอง ที่จะมีเพียงหมายเลขผู้สมัครและช่องกากบาท ทั้งนี้ กกต.จะพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมส่งให้โรงพิมพ์ดำเนินการต่อ ซึ่งตามศักยภาพของโรงพิมพ์ตามที่เคยหารือพบว่ามีศักยภาพที่สามารถพิมพ์บัตรแบบสมบูรณ์ได้ทัน
นายณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเลือกรูปแบบบัตรเลือกตั้ง กกต.จะต้องพิจารณาเรื่องตัวผู้สมัครด้วย เนื่องจากเป็นผู้มีความสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องหารือ เรื่องขนาดบัตรเลือกตั้ง การจัดวางลำดับในบัตร เพราะที่ผ่านมาเคยมีปัญหหา เรื่องการจัดช่องบัตรเลือกตั้งไว้ด้านซ้ายและด้านขวาของกระดาษ ทำให้เกิดการร้องเรียนจากผู้สมัคร จึงเชื่อว่าครั้งนี้ บัตรเลือกตั้งน่าจะเป็นช่องเดียว เรียงเบอร์ จากด้านบนลงล่าง ทั้งนี้ กกต.ให้ความมั่นใจว่า บัตรเลือกตั้งมีระบบติดตามด้วยGPS มีมาตรการดูแลความปลอดภัย และจัดส่งจนถึงหน่วยเลือกตั้ง จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการจัดส่ง
นายณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่โรดแม็ปการเลือกตั้ง เบื้องต้น กกต.เห็นชอบวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ยังไม่สามารถระบุอย่างเป็นทางการได้ จนกว่าพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งจะประกาศอย่างเป็นทางการก่อนในวันที่ 2 ม.ค.2562 ส่วนวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า กำหนดไว้ในวันที่ 10-24 ม.ค. ส่วนการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดไว้ในวันที่ 14-18 ม.ค. ขณะที่การจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปนอกราชอาณาจักร กำหนดไว้ในวันที่ 22-26 ม.ค. ทั้งนี้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะจัดขึ้นระหว่าง 4-16 ก.พ. ขึ้นอยู่กับการกำหนดของสถานกงสุลแต่ละประเทศ
นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีผลบังคับใช้วันนี้ 11 ธ.ค. ทาง กกต. ยอมรับว่า แม้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจาก ติดขัดเรื่องคำสั่ง คสช. หวังว่า จะได้รับการปลดล็อกภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามการเดินสายหาสมาชิกพรรคการเมืองทุกวันนี้ หากพิจารณาจะพบว่า ก็ไม่ต่างจากการหาเสียง ซึ่งการกระทำใดของพรรคการเมืองที่อาจส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด เรื่องนี้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องระมัดระวัง
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวต่อว่า ส่วนการหาเสียงเต็มรูปแบบ จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 2 ม.ค.2562 ที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ โดยวันนั้นจะถือเป็นวันเริ่มต้นการคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ กกต.จะพูดคุยกันในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามฝากเตือนพรรคการเมืองทุกพรรค ให้อ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากใกล้จะถึงวันเเลือกตั้งแล้ว แต่กลับพบว่า พรรคการเมืองหลายพรรคยังไม่มีความเข้าใจเรื่องข้อกฏหมายซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ากลัว
นายณัฏฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็าทางการ กกต.เชื่อว่าจะสามารถรูปผลได้ในเวลา 22.00น. ของวันที่ 24 ก.พ. รวมถึงจะมีแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ชื่อว่า แอพพลิเคชั่น ฉลาดเลือก ซึ่งจะมีข้อมูลนโยบายพรรคการเมือง รายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ที่จุดก่อนเข้าคูหา รวมถึงจะมีแอพพลิเคชั่นอีก 1 ตัวที่อยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการ