ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนำตัวนักฟุตบอลบาห์เรน มาขออำนาจศาลอาญาขอขัง เพื่อรอสั่งฟ้อง
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนำตัวนายฮะคีม อัลโอไรบี ชาวบาห์เรน นักฟุตบอลสโมสรกึ่งอาชีพทีมพาสโก้วีล ของประเทศออสเตรเลีย อายุ 25 ปี ที่ถูกตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลออกหมายจับฐานทำลายทรัพย์สินราชการที่ประเทศบาห์เรน ซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี และถูกศาลอาญาออกหมายจับฐานเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ส่งให้ศาลอาญาเพื่อขอขังระหว่างรออัยการสำนักงานต่างประเทศฟ้องในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
โดยนายฮะคีมพยายามชี้แจงกับสื่อมวลชนระหว่างที่ถูกคุมตัว ว่า ตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่ใช่คนบาห์เรน แต่เป็นคนออสเตรเลีย ไม่ต้องการจะเดินทางไปประเทศบาห์เรน ขอให้ช่วยยุติการส่งตัวและปล่อยให้ตนเองได้กลับบ้านที่ออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามกระบวนการพิจารณาของศาลวันนี้ มีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยื่นขอขังนายฮะคีมไว้ก่อนเพื่อรออัยการส่งฟ้องเป็นผู้ร้ายข้ามแดนภายใน 90 วัน โดยทนายความของนายฮะคีมได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอขัง แต่หากศาลยกคำร้องคัดค้าน ก็จะยื่นขอประกันตัวชั่วคราว แต่ทั้งนี้หากศาลไม่อนุญาต นายฮะคีมก็จะถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันนี้
สำหรับนายฮะคีมเคยถูกทางการบาห์เรนจับกุมและซ้อมทรมานในช่วงการลุกฮือประท้วงอาหรับสปริงในตะวันออกกลางเมื่อปี 2555 ก่อนที่นายฮะคีม จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย แต่สุดท้ายก็ถูกศาลบาห์เรนตัดสินลับหลังจำคุก 10 ปี กรณีสร้างความเสียหายให้สถานีตำรวจ ซึ่งนายฮะคีมปฏิเสธอ้างว่าตนเองแข่งฟุตบอลอยู่ที่ประเทศการ์ตาในช่วงเวลาที่ถูกกล่าวหาคดีดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อนายฮะคีมเดินทางเพื่อจะมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และถูกตำรวจไทยจับกุมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา อัยการของไทยเห็นว่านายฮะคีมมีหมายจับติดตัว จึงจะส่งกลับให้ทางการบาห์เรนไปดำเนินคดีต่อตามกฎหมาย แต่ทางการออสเตรเลียซึ่งได้มอบสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองให้นายฮะคีมไว้ ร่วมกับองค์กรนิรโทษกรรมสากล และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ต่างเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวนายฮะคีมกลับไปประเทศออสเตรเลีย เพราะเกรงว่าหากส่งนายฮะคีมให้ทางการบาห์เรน นายฮะคีมจะเป็นอันตราย
ด้าน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ยืนยันว่านายฮะคีมยังสามารถใช้สิทธิ์ยื่นทนายร้องขออุทธรณ์ต่อศาลไทยได้ โดยเจ้าหน้าที่ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย