จีนรุกอวกาศ ส่งยาน “ฉางเอ๋อ-4” ไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์

2018-12-09 07:30:27

จีนรุกอวกาศ ส่งยาน “ฉางเอ๋อ-4” ไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์

Advertisement

เทคโนโลยีด้านอวกาศของจีนก้าวไปอีกขั้นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความเป็นมหาอำนาจใหม่ด้านอวกาศ เมื่อองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ส่งยานสำรวจอวกาศ “ฉางเอ๋อ-4” ขึ้นสู่อวกาศแล้ว เมื่อช่วงรุ่งสางของวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมีภารกิจลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ปูทางไปสู่การเก็บตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์ กลับมาทำการศึกษาวิจัยบนพื้นโลก

จรวดขนส่งฉางเจิ้ง หรือ “ลองมาร์ช3บี” ของจีน บรรทุกยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ทะยานขึ้นจากฐานในศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง ในมณฑลเสฉวน ทางภาคกลางของประเทศ เมื่อเวลา 02.23 น. ตามเวลาท้องถิ่น และจรวดปล่อยยานฉางเอ๋อ-4 ออกเดินทางสู่อวกาศ เมื่อขึ้นถึงวงโคจรนอกโลก

ยานฉางเอ๋อ-4 กำหนดร่อนลงจอดพื้นผิวของดวงจันทร์ ประมาณต้นเดือน ม.ค. ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะกลายเป็นยานสำรวจอวกาศลำที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของจีน ที่สามารถลงจอดพื้นผิวดาวบริวารของโลกได้สำเร็จ หลังจากยานสำรวจ “หยูทู่” หรือ “กระต่ายหยก” ลงไปจอดเป็นลำแรก เมื่อเดือน ธ.ค. 2556




ทั้งนี้ ยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 จะลงจอดพื้นผิวดวงจันทร์ ในพื้นที่ห่างไกลบริเวณขั้วใต้ ที่เรียกกันว่า “ด้านมืด” เนื่องจากไม่เคยหันมาทางโลก ยานจะลงตรงจุดที่เรียกว่า “หลุมฟอน คาร์มาน” ส่วนหนึ่งของแอ่งขนาดยักษ์ “เอตคิน” ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตลูกมหึมา เมื่อหลายพันล้านปีก่อน

ยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 จะทำงานประสานกับดาวเทียมสื่อสาร “เชวี่ยเฉียว” หรือ “สะพานนกกางเขน” ที่ออกเดินทางจากโลกล่วงหน้าตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ปีนี้ เพื่อส่งข้อมูลกลับลงมายังศูนย์ควบคุมปฏิบัติบนพื้นโลก โดยภารกิจหลักจะเป็นการปูทางสำหรับ ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” ที่จะออกเดินทางจากโลกในปี 1562 เพื่อไปเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ นำกลับลงมาศึกษาวิจัย