นายกฯวอนเข้าใจราคายางตก เสนอ 5 มาตรการแก้ไข

2018-11-23 21:10:41

นายกฯวอนเข้าใจราคายางตก เสนอ 5 มาตรการแก้ไข

Advertisement

นายกฯ วอนเข้าใจราคายางพาราตกต่ำ ประเทศไทยมีผลผลิตยางมากที่สุดในโลก ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลกกลับลดลงเรื่อยๆ ผุด 5 มาตรการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ที่ได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกยางพารา ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่ โดยไม่ได้มีการวางแผนการผลิตให้สอด คล้องกับความต้องการของตลาด จึงส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารามากที่สุด ในโลก แต่ในปัจจุบันราคายางพาราในประเทศ และในตลาดโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ประสบความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ

นายกฯ กล่าวต่อว่า ได้ทำการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของปัญหา ที่มาของภาวะวิกฤติ ราคายางพาราและ แนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จากข้อมูลและข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ จนค้นพบข้อเท็จจริงที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางมากที่สุด ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนาม อินเดีย และไทย โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางได้ มากกว่า 20 ล้านไร่ ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตยาง มากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับการผลิตยางธรรมชาติของทั้ง 6 ประเทศรายใหญ่ ของโลก คือประมาณ 4.5 ล้านตัน 2. ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของประเทศไทย ปี 2550 - 2559 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เป็นระยะๆ ประมาณร้อยละ 7 โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด

นายกฯ กล่าวต่อว่า 3. ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาขายยางพารากลับลดลงโดยปี 2550 - 2559 มีต้นทุนเฉลี่ย เท่ากับร้อยละ 6.94 แต่ราคาขาย เฉลี่ยติดลบ ร้อยละ 3.76 4. ปัจจุบัน ราคายางพาราอยู่ในภาวะขาลงโดยช่วงปี 2551 - 2560 ราคายางแท่งหดตัวลง เฉลี่ยร้อยละ 4.12 และ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 หดตัวลง เฉลี่ยร้อยละ 2.86 และ 5. สถานการณ์ราคายางพาราเมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิต ทั้งประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นระยะๆ โดยช่วง 4 ปีท้ายนี้ มีปริมาณผลผลิตยางมากที่สุดราว 4.5 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าทุกๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลก กลับลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ช่วงปี 2557 - 2561 ก็มีราคาลดต่ำลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์ แบบน้ำมัน แทนการใช้ยางพาราเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้การส่งออกยางพาราจากไทย ไปยังประเทศจีน หรือ ประเทศลูกค้ารายสำคัญลดลง ทำให้ราคายางในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ในประเทศไทยให้ยั่งยืน และ ไม่มีผลกระทบต่อระบบการคลังของประเทศ ก็คือ การลดการพึ่งพาการส่งออกเพราะราคายางพาราในต่างประเทศอยู่ในภาวะเวลาลดลงทุกตลาด และ ราคายางพาราซื้อขายในประเทศ ก็ยังอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ในต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับ การปรับสมดุลลดปริมาณ ยางพาราลงด้วย ซึ่งก็จะทำให้ราคายางพาราในประเทศ มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลก็จึงมีข้อเสนอ ในการแก้ไขปัญหายางพาราต่อคณะกรรมการยางพารา และ คณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนเพื่อจะทุเลาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาวพารา ดังนี้ 1.การจัดทำโครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยางและ เป็นรายครอบครัว เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในระหว่างราคายางพาราตกต่ำ 2. การลดปริมาณการผลิตยางพาราโดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออายุ 15 ปีที่มีต้นโทรม ให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มค่าไปปลูกพืชอื่นๆ รวมทั้งมีการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่น แซมในสวนยาง โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน เพื่อจะเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง โดยจะต้องทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือ ลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อจะเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพารา ให้สอดรับกับอุปทานที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า 3. เชิญชวนและเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง ช่วงราคาตกต่ำ หรืออาจจะช่วยกันหยุดกรีดยาง เป็นเวลา 1-2 เดือน อาจจะทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันที จำนวน 5 แสนตันต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นราคายางพาราในตลาด เพราะการซื้อขายยางนั้น ใช้รูปแบบเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้า และซื้อขายล่วงหน้า มีสัญญาส่งมอบสินค้า เมื่อครบอายุสัญญา ซึ่งวิธีการหยุดกรีดยางนี้ หากสามารถควบคุมการหยุดกรีดได้จริง ก็จะมีผลต่อการราคายางพารา ให้สูงขึ้นมาก หากมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศเห็นด้วย ร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว และ สมัครเข้าร่วมโครงการ มากกว่า ร้อยละ 80 ของเกษตรกรชาวสวนยาง ทั่วประเทศ ก็จะได้ให้ กยท.ไปจัดทำโครงการ อันนี้ไม่ได้บังคับ เชิญชวนความสมัครใจของท่าน ถ้าถึง 80 % เราก็จะไปจัดทำโครงการเหล่านี้ ในการที่จะส่งเสริมอาชีพชาวสวนยางระหว่างโครงการเพื่อให้มีรายได้มาชดเชย ช่วงหยุดกรีดยางต่อไป

4. ขอความร่วมมือบริษัท หรือภาคเอกชน ที่มีธุรกิจแปรรูป หรือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางส่งขายในต่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อจะขอให้เข้าร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในราคาถูก โดยให้ประชาชนได้สิทธินำใบเสร็จซื้อยางล้อรถยนต์ไปลดภาษีเงินได้บุคคล หรือนิติบุคคลประจำปี ในขณะที่บริษัทเอกชน หรือโรงงานที่เข้าร่วมโครงการผลิตยางรถยนต์ราคาถูก ก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นกัน โดยมีเงื่อนไข และหลักฐาน ว่าได้ซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่มี กยท.รับรองโดยตรงด้วย รวมทั้งให้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งของไทย และต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนผลิต หรือรับแปรรูปยาง ส่งไปขายต่างประเทศ ให้มีสิทธิพิเศษทางการลงทุน ตามที่หน่วยงานรัฐ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้กำหนดต่อไป และ 5. ส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น อย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ในทุกรูปแบบโดยเริ่มจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก่อน แล้วขยายไปสู่ตลาด หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเท่านั้น

นายกฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังคงสำรวจมาตรการใหม่ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวงการยางพาราของไทย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานที่ผมได้กล่าวไปแล้ว จะทำให้เกิดความร่วมมือที่เราจะร่วมกันทำ ดำเนินการต่อไปให้เป็นผลตามที่รัฐบาลแนะนำ เรื่องยางพารานี่ก็มีปัญหาอีกอันก็คือเราไม่ใช่มีเฉพาะเจ้าของยางพารา เรามีผู้กรีดยางอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาสัดส่วนในการที่จะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีดยางด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนไปแล้ว เราจะดูแลในส่วนนี้ได้