อาการโปรตีนรั่วทางปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยตัวบวมผิดปกติ และไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนกับคนทั่วไป จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยภาวะดังกล่าวยังส่งสัญญาณถึงความผิดปกติของไต ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไตวายในอนาคตได้อีกด้วย
อาการโปรตีนรั่วทางปัสสาวะ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้ใน “กลุ่มอาการเนฟโฟรติก” เป็นสัญญาณที่แสดงถึงโรคไตชนิดหนึ่งที่มีการขับโปรตีนชนิดที่เรียกว่าอัลบูมินออกมาทางปัสสาวะมากกว่าระดับปกติ ทำให้เกิดอาการตัวบวมตามมา และพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาการบวมที่เกิดจากโปรตีนรั่วจำเป็นต้องได้รับการรักษา
กลุ่มอาการเนฟโฟรติก เป็นความผิดปกติของไตที่ยังสามารถกรองของเสียได้อยู่ แต่มีการรั่วของโปรตีนออกมาในปัสสาวะมากเกินไป วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นที่สำคัญ คือ อาการบวมของร่างกาย อาจดูปริมาณปัสสาวะว่ามีความเปลี่ยนแปลง คือ ลดลงจากปกติ หรือผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าเวลาปัสสาวะในสุขภัณฑ์ที่มีน้ำจะเกิดฟองมากขึ้น และฟองนั้นคงอยู่ได้นานกว่าปกติ อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของอาการโปรตีนรั่วทางปัสสาวะได้
สาเหตุของกลุ่มอาการเนฟโฟรติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1. เนฟโฟรติก แบบปฐมภูมิ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคอย่างชัดเจนได้ แต่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ 2. เนฟโฟรติก แบบทุติยภูมิ โดยมีความสัมพันธ์กับโรคไตอักเสบต่างๆ การใช้ยา และการติดเชื้อบางอย่าง เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายพบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ในส่วนของภาวะแทรกซ้อนจากอาการโปรตีนรั่วทางปัสสาวะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคเอง และภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา
•ภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคเอง อาจเกิดจากการไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือผู้ป่วยที่ขาดการรักษาไปเป็นเวลานาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตวายได้ในอนาคต หรืออาจมีลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากภาวะโปรตีนรั่ว ส่งผลให้มีโอกาสเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น
•ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา คือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วดูแลในเรื่องของสุขลักษณะได้ไม่ดีพอ จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาเป็นยากดภูมิต้านทาน หากติดเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
การรักษากลุ่มอาการเนฟโฟรติก แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาคนไข้เนฟโฟรติก หากมีการตอบสนองต่อตัวโรคได้ดี แพทย์จะค่อย ๆ ลดยากระทั่งหยุดให้ยา แต่ถ้าหากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี แพทย์ไม่สามารถหยุดการใช้ยาสเตียรอยด์ได้ จำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทานอื่น ๆ ร่วมด้วยต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบประคับประคองซึ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกที่คนไข้มีอาการบวมมาก เพราะถึงแม้จะมีการให้ยาจำเพาะสำหรับการรักษาโรค แต่คนไข้อาจไม่ตอบสนองทันที โดยส่วนใหญ่ต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการบวมจึงจะยุบตัวลง ในแง่ของการรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย การจำกัดอาหารรสเค็ม อาหารรสจัด อาหารที่ปรุงด้วยเกลือปริมาณมาก เนื่องจากเกลือจะทำให้ตัวบวมมากขึ้น ส่วนในแง่ของอาหารอื่น ๆ เช่น โปรตีน คนไข้ยังสามารถทานได้ตามความเหมาะสมของช่วงอายุคนไข้ นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องรักษาสุขลักษณะต่างๆให้ดี เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ
ความสำคัญของการรักษาคือเรื่องการกินยาตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือเพิ่มยาเอง หากมีปัญหาต้องรีบติดต่อแพทย์ เพื่อวางแผนปรับยาโดยเร็ว นอกจากนี้คนไข้ควรดูแลเรื่องการับประทานอาหารที่สุกสะอาด เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรืออาหารที่ปรุงด้วยเกลือปริมาณมาก เพราะจะทำให้ตัวบวมมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นความดันเลือดให้สูงขึ้น
ผศ. นพ.ทรงเกียรติ ฉันทโรจน์
สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล