ซีไอเอ ตบหน้าซาอุฯฉาดใหญ่ ฟันธงเจ้าชายโมฮัมเหม็ด สั่งฆ่าคาช็อกกี

2018-11-17 08:30:33

ซีไอเอ ตบหน้าซาอุฯฉาดใหญ่ ฟันธงเจ้าชายโมฮัมเหม็ด สั่งฆ่าคาช็อกกี

Advertisement

หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐ หรือซีไอเอ สรุปแล้วว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย สั่งเป็นการส่วนพระองค์ให้จัดการสังหารนายจามาล คาช็อกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ชื่อดังชาวซาอุฯ ของวอชิงตัน โพสต์ ในสถานกงสุลซาอุฯ ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา




ซีไอเอส ประเมินด้วย “ความมั่นใจสูง” ว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด อยู่เบื้องหลังการตายของคอลัมนิสต์วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ รายงานเมื่อเย็นวันศุกร์ อ้าง “คนคุ้นเคยกับเรื่องนี้”






เบื้องต้น รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธว่า คาช็อกกีถูกฆ่าภายในสถานกงสุลซาอุฯ ในเมืองอิสตันบูล ซึ่งเขาถูกพบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว รัฐบาลริยาดก็ยอมรับว่า นักข่าวคนดังเสียชีวิตในสถานกงสุล ด้วยการอ้างว่า เกิดจาก “การทะเลาะวิวาทและต่อสู้” กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปรับตัวเขากลับซาอุฯ






คาช็อกกี ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ เป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าชายซาอุฯอย่างรุนแรง

ประธานาธิบดีเรเซป เออร์โดวาน ผู้นำตุรกี ซึ่งเขียนบทความลงในวอชิงตัน โพสต์ เมื่อเดือนที่แล้ว อ้างว่า คำสั่งฆ่าคาช็อกกี มาจากบุคคลระดับสูงสุดของรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งไม่ได้ระบุชื่อเจ้าชาย แต่ดูเหมือนว่า เจ้าชายจะมีส่วนพัวพันด้วย

โพสต์ รายงานว่า จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากซีไอเอ คือโทรศัพท์มือถือที่โทรพูดคุยกันระหว่างนายคาช็อกกี และเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำกรุงวอชิงตัน เจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน พระเชษฐาของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งเจ้าชายคาลิด รับประกันกับนายคาช็อกกีว่า มีความปลอดภัยในการเดินทางไปยังสถานกงสุล ส่วนเจ้าชายคาลิด เดินทางออกจากกรุงวอชิงตันอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม และไม่คาดว่าจะเดินทางกลับวอชิงตัน จากรายงานของสื่อหลายแห่ง ซึ่งยังไม่ได้มีการยืนยันหรือปฏิเสธจากรัฐบาลริยาด






อย่างไรก็ตาม ฟาติมาห์ บาเชน โฆษกหญิงของสถานทูตซาอุฯในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับโพสต์ว่า การประเมินดังกล่าวของซีไอเอไม่เป็นความจริง ทางซาอุฯ มีและยังคงรับฟังทฤษฎีต่าง ๆ โดยที่ยังไม่เห็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการคาดเดาต่าง ๆ เหล่านี้ ยังไม่ได้มีความชัดเจนว่า ขอบเขตการประเมินของซีไอเอที่รายงานนั้น อยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน หรือเป็นแค่สมมติฐานเท่านั้น เช่นว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด คือ “ผู้ปกครองตัวจริง” ของซาอุฯ

โพสต์ อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งระบุว่าคุ้นเคยกับการสอบสวนของซีไอเอ บอกว่า ต้องยอมรับว่าไม่มีทางที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ โดยที่เจ้าชายไม่รับรู้ หรือเกี่ยวข้องด้วย จากหลักฐานที่ซีไอเอมีอยู่ คือเทปบันทึกเสียงจากเครื่องฟังที่ตุรกีติดตั้งอยู่ภายในสถานกงสุลซาอุฯ ซึ่งกีนา แฮสเปล ผู้อำนวยการซีไอเอ ได้รับสำเนาของเทปบันทึกเสียงดังกล่าว ที่มีการแบ่งปันให้เจ้าหน้าที่จากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศด้วย