การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในยุค 2018

2018-11-16 15:30:54

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในยุค 2018

Advertisement

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในชายสูงวัยควบคู่ไปกับโรคต่อมลูกหมากโต ตัวมะเร็งต่อมลูกหมากเองนั้นเป็นมะเร็งที่มีความหลากหลายในแง่การดำเนินโรคมาก มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดที่มีความรุนแรงน้อยอาจไม่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเลย ถ้าบรรยายให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ อาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลย รวมถึงไม่มีการแพร่กระจายของโรคตลอดช่วงอายุขัยของผู้ป่วยรายนั้น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดที่ไม่รุนแรงมักจะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งต่อมลูกหมาก ในทางตรงข้าม มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยบางรายก็เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมาก มีการกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรืออาจดื้อต่อการรักษาวิธีการต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปและอาจสงสัยว่าทำไมการรักษาถึงไม่เหมือนกันเลย หรือทำให้สับสนกับการรักษาที่แพทย์แนะนำ

ดังนั้นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบัน มักเริ่มต้นจากการพยายามป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากโดยแนะนำให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พบว่าการมีภาวะอ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดุมากขึ้น นอกจากนี้การพยายามวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นให้ได้เร็วขึ้นจะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่าการวินิจฉัยพบในระยะที่มีการแพร่กระจายแล้ว ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาค่า PSA


ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วนั้น แพทย์จะทำการประเมินความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน โดยนำข้อมูลที่มีมาประเมินความเหมาะสมของการักษา โดยประเมินจากระยะของโรค ค่า PSA ผลการตรวจชิ้นเนื้อ ร่วมกับความแข็งแรงและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยบางคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในระยะที่แรกเริ่มมากๆ ร่วมกับค่า PSA ที่ต่ำ การรักษาอาจใช้วิธีการติดตามอย่างใกล้ชิดได้โดยที่ยังไม่ต้องได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสง สำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งต่อมลูกหมากมีความดุมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาในอนาคต ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น เช่นการผ่าตัดต่อมลูกหมากออก หรือการฉายแสงที่ต่อมลูกหมาก สำหรับการผ่าตัด ในปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากออกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก นอกจาการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแล้ว ยังมีการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากออกด้วยการส่องกล้องซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า หรือการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งก็ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะแพร่กระจายแล้วนั้น การรักษามักเริ่มต้นด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งสามารถทำได้โดยการตัดอัณฑะ หรือการใช้ยาฉีดเพื่อลดระดับฮอร์โมน ในผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำ หรือมีการดื้อต่อการรักษาด้วยการลดระดับฮอร์โมนเพศชาย สามารถใช้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น สำหรับคนที่กังวลถึงผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ในปัจจุบันมียารุ่นใหม่ในกลุ่มอื่นหลากหลายมากขึ้นซึ่งสามารถใช้แทนได้ และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยมากขึ้น

ดังนั้นจะเห็นว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกและรายละเอียดในการรักษามากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยโดยตรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับโรคของต่อมลูกหมากอีกมาก ทางสาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีขอเรียนเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานสัปดาห์แห่งการแก้ไขและให้คำปรึกษาปัญหาต่อมลูกหมากและสุขภาพเพศชายเพื่อประชาชน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ 8 ในวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2561 เวลา 7.30-14.00 น. สามารถลงทะเบียนเพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ 064-181-4975 ในเวลาราชการ ภายในงานจะมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆของต่อมลูกหมาก และมีโอกาสได้ซักถาม พูดคุยถึงปัญหาต่อมลูกหมากกับอาจารย์แพทย์และแพทย์ประจำบ้านอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์เปรมสันติ์ สังฆ์คุ้ม

คลินิกต่อมลูกหมากและสุขภาพเพศชาย

สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล