ขยะพลาสติกในมหาสมุทร กำลังเป็นประเด็นปัญหาที่มีการถกอภิปรายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทั่วโลก จากผลกระทบในทางลบของมัน ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล ต้องใช้เวลานานถึง 450 ปี ในการย่อยสลายทางชีวภาพ
การประเมินขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือเอ็นโอเอเอ (the US’ National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) และกลุ่ม Woods Hole Sea Grant ที่รวบรวมข้อมูลแสดงให้เห็น ระยะเวลาที่ขยะจากฝีมือมนุษย์จะย่อยสลายทางชีวภาพในทะเล ตามแผนผังจะเห็นว่า เชือกสายเบ็ดตกปลาคือขยะที่ร้ายแรงที่สุด ต้องใช้เวลาถึง 600 ปีในการย่อยสลายทางชีวภาพ ส่วนผ้าอ้อมใช้เวลาเท่ากับขวดพลาสติก คือ ประมาณ 450 ปี ถุงพลาสติกใส่ของตามร้านค้าใช้เวลา 20 ปี ส่วนถ้วยโฟมใส่กาแฟใช้เวลา 50 ปี และก้นบุหรี่ 10 ปี
เอ็นโอเอเอให้คำจำกัดความของคำว่า “ขยะทะเล” คือ “วัตถุใด ๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นมา และถูกทิ้งหรือกำจัด แล้วออกไปสู่น่านน้ำชายฝั่ง หรือสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
ในแต่ละปี ขยะพลาสติกประมาณ 8 ล้านเมตริกตัน ที่มนุษย์ทิ้งทั่วโลก สุดท้ายไปลงเอยอยู่ในมหาสมุทร และเชื่อกันว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าปลา
โดยคิดตามน้ำหนัก เมื่อขยะพลาสติกไปถึงมหาสมุทร มันสามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นจำนวนมาก เมื่อต้นปีนี้ วาฬนำร่องตัวหนึ่งตายในทะเลนอกชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทย และพบว่ามันกลืนถุงพลาสติกลงท้อง 80 ใบ เมื่อท้ายที่สุดพลาสติกย่อยสลายลงเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ปลาสามารถกินได้ และสุดท้ายปลาตัวนั้นอาจจะอยู่ในอาหาร ที่ถูกกินโดยมนุษย์
รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต่างให้การยอมรับมากขึ้น ต่อปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร และผลกระทบของมันที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ปีที่แล้ว เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในมติของสหประชาชาติ เพื่อยุติการก่อมลภาวะพลาสติกในทะเล
เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปลงมติสนับสนุน “การห้ามโดยสิ้นเชิง” ต่อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบางชนิด เช่นไม้สำลีแคะหู หลอดดูดน้ำ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร โดยหวังว่าการห้ามจะเริ่มมีผลบังคับได้ในปี 2564 และในเดือน ก.ย. ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีโคนอมิค ฟอรั่ม” ประกาศแผนโครงการ “ความเป็นหุ้นส่วนใหม่” ภายใต้ชื่อ หุ้นส่วนปฏิบัติการขยะพลาสติกโลก หรือ จีพีเอพี ( the Global Plastic Action Partnership : GPAP) เพื่อควบคุมการเติบโตของมลภาวะพลาสติก ภายในปี 2563 ด้วยการสนับสนุนด้านบุคลากรและเงินทุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและแคนาดา รวมทั้งภาคเอกชนอย่าง บริษัทโคคาโคลา บริษัทดาวเคมีคอล และมูลนิธิเป๊ปซีโค
จีพีเอพี จะทำงานร่วมกับบรรดาประเทศที่มีเขตแดนติดทะเล ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาขยะ เริ่มจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก จีพีเอพีจะช่วยประเทศหมู่เกาะดำเนินการตามแผน ลดมลภาวะพลาสติกลง 70% ตลอดระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า
จีพีเอพีจะกระตุ้นกลุ่มธุรกิจ ชุมชน และรัฐบาล ให้ออกแบบเศรษฐกิจโลกใหม่ แบบ “ใช้แล้วทิ้ง” และหันมาใช้วิธีหมุนเวียน ในการผลิตและการบริโภค
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล สถิติการทิ้งขยะลงทะเลของประเทศต่างๆ ในปี 2553 ซึ่งแสดงให้เห็นปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากการจัดการผิด และปริมาณที่ลงเอยในมหาสมุทร เฉลี่ยในแต่ละปี ซึ่งจีนมีมากที่สุดในโลกด้วยปริมาณ 8.80 / 3.53 ล้านเมตริกตัน ตามด้วยอินโดนีเซีย 3.20 / 1.29 ล้านเมตริกตัน ส่วนไทย 1.00 / 0.41 ล้านเมตริกตัน