นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 กล่าวถ้อยแถลงมุ่งขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยันรัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุนภาคเอกชน
เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 13 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit :ABIS) ในหัวข้อ “Business and Investment in Thailand and ASEAN” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมมารีนา เบย์ แซนด์ ประเทศสิงคโปร์ ภายหลังเสร็จสิ้น พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรมายาวนานค่อนศตวรรษ เรามีความร่วมมือร่วมใจและรวมกันเป็นหนึ่งทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจหรือการลงทุนมากที่สุดในโลก ตัวเลขการค้าและการลงทุนของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งช่วยสะท้อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งยังแสดงถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกที่มีต่ออาเซียน
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณภาคเอกชนที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็งและมั่งคั่งยิ่งขึ้น ภาครัฐมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎระเบียบและนโยบาย ได้มุมมองจากอีกด้านในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
หัวใจสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน ก็คือ การก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งเดียวและเชื่อมโยงกันภายในภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และสร้างความรู้สึกเป็นประชาคมเดียวกันมากยิ่งขึ้น ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนี้ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนให้กลายเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 มียุทธศาสตร์หลัก 5 ประการที่เน้นย้ำในเรื่องการสร้างความเชื่อมโยง ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน นวัตกรรมดิจิทัล การขนส่งแบบไร้ร่อยต่อ ความเป็นเลิศด้านระเบียบข้อบังคับ และการเคลื่อนย้ายบุคลากร เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะได้นำยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศให้มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน และนำไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ
สำหรับประเทศไทย ก็ได้นำแผนแม่บทดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศเช่นกัน โดยการปฏิรูป 3 ด้านหลักๆ ที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การปฏิรูปกฎหมายและความสะดวกในการทำธุรกิจ การผลักดันประเทศด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
จากนั้นเวลา 18.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐสิงคโปร์) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 แบบเต็มคณะ (Plenary) และการหารือระหว่างอาหารค่ำ (Working Dinner) ที่นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการซันเทค โดย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาคมอาเซียน นโยบายของอาเซียนต่อหุ้นส่วนนอกภูมิภาค และการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของอาเซียนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคและของโลก โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนควรให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.การสานต่อการดำเนินการในการสร้างความเข้มแข็งและนวัตกรรม ทั้งในเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ การบริหารจัดการชายแดน การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและการพัฒนาคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนที่ จังหวัดชัยนาท การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเงินและเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลและพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการเงิน (fintech) เพื่อส่งเสริมตลาดวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยของอาเซียน
2.การสร้างความยั่งยืนให้แก่อาเซียน อาเซียนมีแนวโน้มที่จะมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นและจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ไทยในฐานะผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีพลวัตและมองไปสู่อนาคต และขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรมในไทยในปีหน้า
3.การเสริมสร้างหุ้นส่วนที่มีกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่อาเซียนเป็นแกนกลางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน โดยคำนึงถึงหลัก 3M การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual trust, mutual benefit, and mutual respect) เพื่อนำไปสู่การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค และสนับสนุนให้อาเซียนหาแนวคิดร่วมในเรื่องอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
สำหรับการรักษาเอกภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาความท้าทายในภูมิภาค โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคและความต้องการของประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ ซึ่งไทยสนับสนุนบทบาทของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการส่งผู้แทนอาเซียนไปเยือนเมียนมา เพื่อพิจารณาสถานการณ์และหารือเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในการช่วยเมียนมาแก้ไขสถานการณ์ในรัฐยะไข่อย่างสร้างสรรค์
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีย้ำว่าอาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียนอย่างแท้จริง