จี้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”ทบทวนถนนคอนกรีตเขาพะเนินทุ่ง

2018-11-05 16:25:53

จี้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”ทบทวนถนนคอนกรีตเขาพะเนินทุ่ง

Advertisement

“ศรีสุวรรณ” นำนักอนุรักษ์ร้อง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ทบทวนถนนคอนกรีตขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ระยะทาง 18.50 กม. หวั่นกระทบการผลักดันให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ


เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการก่อสร้างปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ตามโครงการที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้ดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาให้มีการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพระเนินทุ่งจากถนนดินลูกรังให้เป็นถนนคอนกรีต (ถนนสายบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่งระยะทาง 18.50 กม.) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2561 เป็นต้นมาโดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 560 วันนั้น เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อแนวทางการอนุรักษ์และขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง ทำลายผืนป่าว่าที่มรดกอาเซียน และว่าที่มรดกโลก การดำเนินโครงการปรับปรุงถนนดังกล่าวเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ท่องเที่ยว หรือนักเซลฟี้ จะกระทบกระเทือนไปทั้งระบบต่อความพยายามของคนไทยทั้งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะผลักดันให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน “Kaeng Krachan Forest Complex : KKFC” หรือ “Thailand Western Forest Complex” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และพื้นที่แนวเชื่อมต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปลอดภัยทางทหาร


นายศรีสวุรรณ กล่าวต่อว่า พื้นที่ป่าแก่งกระจานจัดอยู่ในเขตนิเวศอินโดมาลายัน รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำภาชี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำกุยบุรี อีกด้วย ดังนั้น โครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพระเนินทุ่งจากถนนดินลูกรังให้เป็นถนนคอนกรีต ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งจะกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อความพยายามที่จะเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” แห่งที่ 3 ของประเทศดังนี้ กระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานที่จะต้องนำเสนอเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีการค้นพบชนิดพันธุ์อย่างน้อย 720 ชนิด มีการกระจายพันธุ์จากถิ่นอาศัยทางใต้ ขึ้นไปจนถึงบริเวณเหนือสุด เช่น ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกบั้งรอกปากแดง และนกปรอดสีน้ำตาลตาแดง ปาดป่าจุดขาว และค่างดำ นอกจากนั้นยังพบสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมายอีกหลายชนิด อาทิ แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ เลียงผา และสมเสร็จ ที่สำคัญกลุ่มพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตภูมิพฤกษ์ (Floristic-provinces) 4ลักษณะเด่น ได้แก่ 1. Indo-Burmese หรือ Himalayan 2. Indo-Malaysian 3. Annamatic และ 4.Andamanese พบการปรากฎของพืชเฉพาะถิ่น เช่น จำปีเพชร และจำปีดอย ซึ่งราชอาณาจักรไทยพบเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเท่านั้น เป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ จระเข้น้ำจืด และได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน เมื่อปี 2546 แล้วด้วย ตลอดแนวเส้นทางที่จะมีการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวเป็น ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่ ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงถิ่นที่อยู่ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามที่มีความโดดเด่นเป็นสากล ทั้งจากมุมของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์ เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งและพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่


คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2555 เคยมีมติเห็นชอบต่อเอกสารนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอเอกสารดังกล่าวขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับเอกสารนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จะต้องจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 ก.พ.ของทุกปีแล้วนั้น การที่รัฐบาลไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปล่อยให้มีการจัดทำโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทั้งในขณะก่อสร้าง และในระยะยาวจากอุบัติเหตุของรถนักท่องเที่ยวที่วิ่งแข่งขันกันโดยใช้ความเร็วสูง เพื่อเร่งรีบไปชมทะเลหมอกในยามเช้า ณ จุดชมวิว ณ ที่ทำการอุทยานเขาพะเนิน ย่อมเป็นความเสี่ยงสูงที่สัตว์ป่า สัตว์คุ้มครอง และสัตว์สงวนตามกฎหมาย จะได้รับอันตรายเป็นอย่างมาก


ที่สำคัญการจัดทำโครงการฯดังกล่าวใช้เทคนิคศรีธนญชัย โดยเลี่ยงที่จะใช้คำว่าก่อสร้างถนนใหม่ แต่ใช้คำว่าปรับปรุงถนนเดิมแทน โดยไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด ซึ่งกรมอุทยานฯเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลับละเมิดกฎหมายเสียเอง ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจานไม่อาจยอมรับได้ จึงนำความมาร้องต่อนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อสั่งให้ระงับหรือทบทวนโครงการดังกล่าวเสีย หากไม่เป็นผลสมาคมฯและเพื่อนนักอนุรักษ์จะนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด