คณะนักบรรพชีวินวิทยาชาวสเปนและชาวอาร์เจนตินา ค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ซอโรพอตสายพันธุ์ใหม่ ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 110 ล้านปีก่อน ทางภาคกลางของประเทศอาร์เจนตินา
แถลงการณ์ของมหาวิทยาลันแห่งชาติลา มาตานซา ในอาร์เจนตินา กล่าวว่า ซากฟอสซิลโครงกระดูกที่พบมาจากไดโนเสาร์ 3 ตัว อยู่ในกลุ่ม ซอโรพอต ซึ่งกินพืชเป็นอาหาร ที่รู้จักกันดีคือสายพันธุ์ไดพลอโดคัส และบรอนโตซอรัส แต่สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ ถูกตั้งชื่อว่า ลาโวาเคติซอรัส อกริโอเอนซิส (Lavocatisaurus agrioensis)
โฮเซ่ หลุยส์ คาร์บัลลิโด นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์เอกิดิโอ เฟรูกลิโอ และสภาสืบสวนทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติอาร์เจตินา กล่าวว่า ฟอสซิลโครงกระดูกที่พบส่วนใหญ่ เป็นส่วนกะโหลกศีรษะ จมูก กราม ฟัน และเบ้าตา และทีมงานผู้เชี่ยวชาญสามารถปะติดปะต่อโครงกระดูกจนเกือบจะครบร่าง นอกจากนั้นยังพบบางส่วนของกระดูกคอ หาง และสันหลัง
คาร์บัลลิโด กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่เป็นการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ แต่พบในพื้นที่ที่ไม่น่าจะพบ เนื่องจากเคยเป็นเขตทะเลทราย มีทะเลสาบกระจัดกระจาย ซากที่พบเป็นของไดโนเสาร์วัยผู้ใหญ่ 1 ตัว ขนาดความยาวลำตัวประมาณ 12 เมตร และไดโนเสาร์อายุน้อยอีก 2 ตัว ขนาดความยาวประมาณ 6 – 7 เมตร
นักบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า ไดโนเสาร์ซอโรพอตจะไปไหนเป็นกลุ่ม และตายด้วยกัน ซอโรพอตเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยเดินอยู่บนโลก เชื่อกันว่าซูเปอร์ซอรัสอาจมีความยาวลำตัว 33 – 34 เมตร และอาร์เจนติโนซอรัสมีน้ำหนักถึง 120 ตัน.