อาหารกับเพศสัมพันธ์ 2

2018-11-03 10:00:55

อาหารกับเพศสัมพันธ์ 2

Advertisement

พฤติกรรมและความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ในบางครั้งอาหารอาจเป็นสาเหตุของความเครียดและความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทางเพศได้ ในทางกลับกันการรับประทานอาหารด้วยกัน อาจเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์หรือผูกมัดคู่ชีวิตได้

การรับประทานอาหารด้วยกัน

ในความรู้สึกบางประการ สมองเป็นอวัยวะที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด การมีเพศสัมพันธ์เพศจะเริ่มต้นด้วยการสร้างอารมณ์ ความสนิทสนมและความปรารถนาทางเพศ ในขณะเดียวกันเวลารับประทานอาหารร่วมกันอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีในการผ่อนคลาย และสร้างความสนิทสนมในบรรยากาศที่เพลิดเพลินกับคู่ชีวิต

ความขัดแย้งในเรื่องอาหาร

บางครั้งความชอบและนิสัยเรื่องอาหารที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ได้เช่นกัน ควรได้มีโอกาสพูดคุยกับคู่ชีวิต เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน เพื่อช่วยสร้างความสนิทสนมและความไว้วางใจระหว่างกัน


สาเหตุของความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องอาหาร อาจรวมถึง

• ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

• ข้อจำกัดด้านศาสนา

• ความตึงเครียดระหว่างผู้รับประทานอาการมังสวิรัติกับผู้สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง

• ความตึงเครียดระหว่างผู้รับประทานอาหารที่พิถีพิถันกับผู้ที่ชอบอาหารที่แปลกท้าทาย

นอกจากนี้ถ้ามีประวัติความผิดปกติของการรับประทานอาหาร การอดอาหารเรื้อรังหรือต้องควบคุมอาหาร อาจมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันของเรื่องอาหารและสิ่งอื่น ๆ ตามมาโดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเพศ

การสนับสนุน 

น้ำหนักของคนทั่วไปอาจผูกติดอยู่กับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ร่างกาย ถ้าคู่ของเรากำลังพยายามที่จะลดน้ำหนัก เราอาจต้องช่วยสนับสนุนให้คู่ชีวิตไปพร้อมกัน การวิจารณ์การเลือกอาหารที่รับประทาน หรือการพยายามมองข้ามเรื่องอาหารของคู่ชีวิตขณะที่กำลังรับประทานอยู่ร่วมกัน อาจจะไม่ส่งเสริมความรู้สึกที่ดีต่อกันได้

ภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องการควบคุมอาหาร 

ภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาหารมีหลายประการและอาจส่งผลเสียต่อเพศสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ ควรทำตามขั้นตอนการควบคุมอาหารที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาหารเช่นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูงและไขมันคอเลสเตอรอลสูง


น้ำหนักเกิน 

โรคอ้วนได้รับการเชื่อมโยงกับการลดลงของภาวะการเจริญพันธ์ การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของตนเอง ส่งผลต่อความใคร่และความปรารถนาทางเพศ การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยเผาผลาญแคลอรีมากกว่าที่รับประทานเข้าไป เพื่อลดน้ำหนักส่วนเกิน ควรรับประทานอาหารให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพ จำกัดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง

ความดันโลหิตสูง 

การรับประทานอาหารเค็มหรือมีโซเดียมมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตสูงและจำกัดการไหลเวียนของเลือด อาหารเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชายและลดการไหลเวียนของเลือดไปยังช่องคลอดในผู้หญิง นอกจากนี้ยาลดความดันโลหิตบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเพศที่ไม่พึงประสงค์

ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่สมดุลและไม่รับประทานอาหารที่เค็มหรือมีโซเดียมมากจนเกินไป เพื่อช่วยรักษาความดันโลหิตให้ดี รวมทั้งรับประทานอาหารที่อุดมด้วยเกลือโปแทสเซียมให้เพียงพอทุกวัน เช่น มันฝรั่ง ผักใบเขียว ผักขม เห็ด กล้วย มะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น หากมีข้อสงสัยคิดว่ายาลดความดันโลหิตมีผลข้างเคียงต่อสมรรถภาพทางเพศ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีทางเลือกเปลี่ยนยาประเภทอื่นได้

ไขมันคอเลสเตอรอลสูง 

การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์ (ไขมันไม่อิ่มตัว) สามารถเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอล "ไม่ดี" ชนิดเอล ดี เอล (LDL) ได้มากเกินไป ซึ่งจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบ แล้วเกิดเป็นแผ่นพลาค (Plaque) ผนังหลอดเลือดแข็งและตีบตามมา จำกัดการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกิดการขาดเลือดและมีอาการผิดปกติตามมา โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรรับประทานอาหารที่สมดุลและอุดมไปด้วยเส้นใยและลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เพื่อช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้ดี

ศ.น.ท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล