เตือนไปญี่ปุ่นฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน

2018-11-02 00:05:25

เตือนไปญี่ปุ่นฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรคนำทีมแถลง เตือนคนเดินทางไปญี่ปุ่น รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง หากติดเชื้อมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ สำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นนั้นให้เฝ้าสังเกตอาการ 21 วันว่ามี ไข้ ออกผื่นหรือไม่ หากมีให้ไปพบแพทย์ ระหว่างนี้ไม่ควรไปใกล้ชิดหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่กรมควบคุมโรค นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปกติในการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังโรคระบาดระหว่างประเทศนั้นจะแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะจับตา ไม่ห้ามการเดินทาง 2. ระยะเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ซึ่งไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่จะมีคำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และ 3. ระยะเตือนภัยคือการห้ามเข้าไปยังพื้นที่ระบาด ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคหัดเยอรมันในประเทศญี่ปุ่นนั้นประเทศทไทยประกาศยังอยู่ในระดับ 2 คือ มีคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวทั้งคนไทยที่จะเดินทางเข้ายังประเทศญี่ปุ่น และคนไทยหรือคนต่างชาติที่เดินทางจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย เช่นเดียวกับศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาก็ประกาศเตือนที่ระดับ 2 เหมือนกัน



ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่นพบว่า จำนวนผู้ป่วยจาก 184 รายเมื่อวันที่ 11 ก.ย. เป็น 362 รายในวันที่ 19 ก.ย. และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย 1,468 ราย แต่ไม่มีการเสียชีวิต โดยการระบาดจะอยู่ในพื้นที่เมืองหลวง คือโตเกียวและจังหวัดรอบๆ เมืองหลวง ดังนั้นไทยจึงออกประกาศให้คนไทยที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นต้องรับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพราะหากเกิดการติดเชื้อมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ สำหรับมาตรการดูแลป้องกันในคนที่เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นนั้นให้เฝ้าสังเกตอาการ 21 วันว่ามี ไข้ ออกผื่นหรือไม่ หากมีให้ไปพบแพทย์ และระหว่างนี้ไม่ควรไปใกล้ชิดหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก




นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากติดเชื้อหัดเยอรมัน จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้มีความเสี่ยงพิการ เกิดภาวะหัวใจรั่ว อวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ เสี่ยงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าอายุครรภ์มากกว่านี้จะไม่เสี่ยง ดังนั้น หากกำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงเดินทางไปที่ญี่ปุ่นดีที่สุด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางก็ขอให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ สำหรับกรณีเกิดการติดเชื้อในเด็กเล็กไม่ได้ทำให้เกิดความพิการ แต่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนมีไข้ออกผื่น เสี่ยงติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาการจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้โรคหัดเยอรมันติดต่อกันผ่านการไอ จาม สัมผัสสารคัดหลั่ง ติดต่อง่ายกว่าไข้หวัดทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงจนต้องหวาดวิตก เนื่องจากมีวัคซีนป้องกัน



นพ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามการแจ้งเตือนของสถานทูตญี่ปุ่นในไทยวันที่ 4 ก.ย.ไม่ได้เตือนอะไรมากมายแค่บอกว่าให้ทำประกันสุขภาพเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ในไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยปีละ 200 ราย โดยปี 2560 มีผู้ป่วย 261 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 25 ต.ค. 2561 มีผู้ป่วย 269 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 24-54 ปี ชาย-หญิงใกล้เคียงกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีโปรแกรมให้วัคซีนป้องกันมาตั้งแต่ปี 2529 ในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทาน โดยปัจจุบันคือ ผู้หญิงที่อายุประมาณ 44 ปีลงมา และในปี 2536 ได้ขยายการให้วัคซีนแก่นักเรียนทั้งชายและหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนไทยอายุต่ำกว่า 32 ปีลงมา ซึ่งภาพรวมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันครอบคลุมสูงกว่าร้อยละ 95 และหากใครฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 อยู่ได้ตลอดชีวิต และปัจจุบันประเทศไทยได้ให้วัคซีนกับทารกที่เกิดใหม่ทุกคน 2 เข็ม เข็มแรกให้เมื่ออายุ 9 เดือน ส่วนเข็มที่ 2 ให้เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง ดังนั้นขอเตือนผู้ปกครองให้มาลูกหลานมารับวัคซีนตามที่นัดหมายด้วย.