อินโดฯเดือด ซาอุฯประหารแม่บ้านโดยไม่แจ้ง

2018-11-01 07:25:31

อินโดฯเดือด ซาอุฯประหารแม่บ้านโดยไม่แจ้ง

Advertisement

ซาอุดีอาระเบีย ประหารชีวิตนางตูตี ตูร์สีลาวาตี แม่บ้านชาวอินโดนีเซีย ซึ่งก่อเหตุฆ่านายจ้างระหว่างการป้องกันตัวจากการถูกข่มขืน จุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้นในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ตูร์สีลาวาตี ซึ่งทำงานในเมืองทาอีฟ ถูกพิพากษาให้มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมนายจ้างในเดือนมิถุนายน 2554

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายอาเดล อัล-จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เพื่อสอบถามถึงเหตุผลว่า ทำไมทางซาอุฯ ไม่แจ้งให้ทางการจาการ์ตาได้รับทราบเกี่ยวกับการประหารชีวิตนางตูตี ตูร์สีลาวาตี แม่ลูกหนึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 3 ปีที่ทางการซาอุฯ ไม่ได้แจ้งให้ทางการอินโดนีเซีย ทราบก่อนการประหารชีวิตแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซีย

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงอ้างคำกล่าวของนายวิโดโด ว่า รัฐบาลได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ และทำการประท้วงด้วย ด้านกลุ่มทนายอาสาของอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า “Migrant Care” (ไมแกรนต์ แคร์) กล่าวในเดือนกันยายนว่า นางตูตี ตูร์สีลาวาตี ป้องกันตัวเองจากการถูกข่มขืน




ประธานาธิบดีวิโดโด กล่าวว่า เอกอัครราชทูตซาอุฯประจำอินโดนีเซีย ถูกเรียกตัวเข้าพบเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าว

อาบีดิน ฟีครี สมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซีย กล่าวว่า ราชอาณาจักรซาอุฯ เพิกเฉยต่อหลักการของสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมทั้งสิทธิของทุกคนในการมีชีวิตอยู่



นางตูร์สีลาวาตี ถูกประหารชีวิตเพียงหนึ่งสัปดาห์ หลังนายอัล-จูเบอีร์ พบหารือกับเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และประธานาธิบดีวิโดโด ในกรุงจาการ์ตา เพื่อหารือเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานอพยพ ซึ่งระหว่างการประชุม นายมารูซูดี ย้ำถึงความสำคัญในเรื่องของการแจ้งและปรึกษาหารือก่อนการลงโทษประหารชีวิต

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างละเอียด เกี่ยวกับการสังหารโหดนายจามาล คาชอกกี นักข่าวและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ชาวซาอุฯ และยังเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯอย่างถึงพริกถึงขิงด้วย

ซาอุฯ เป็นประเทศจุดหมายปลายทางใหญ่ที่สุดในโลก ของแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย และเมื่อต้นเดือนนี้ 2 ประเทศนี้ ก็ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ว่าจะร่วมกันตรวจสอบ, ดูแล และประเมินค่าแรงงาน ซึ่งหลังการใช้โทษประหารชีวิตครั้งนี้ วาห์ยุ ซูซีโล ผู้อำนวยการบริหารของไมแกรนต์ แคร์ เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว



มีแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซีย 18 คนแล้ว ที่ถูกประหารชีวิตในซาอุฯ