กทม.รื้อป้ายโฆษณา บริษัทค้างค่าเช่า 200 ล้าน

2018-10-25 19:10:50

กทม.รื้อป้ายโฆษณา บริษัทค้างค่าเช่า 200 ล้าน

Advertisement

กทม. แจงบริษัทค้างค่าเช่าป้ายโฆษณา กทม. 200 ล้าน สั่งรื้อ 1,070 ป้าย ให้เสร็จใน 26 ต.ค. นี้

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีของบริษัทเอกชนไม่จ่ายค่าเช่าป้ายโฆษณาเป็นเงินจำนวน 200 ล้านบาทว่า ป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นของบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 1,070 ป้าย ซึ่งติดตั้งบนศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง และป้ายประกอบที่อยู่บริเวณโดยรอบ ซึ่งมีสัญญาสัมปทานตั้งแต่ปี 2555 และจะหมดสัญญาในเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้ทางบริษัทได้หยุดจ่ายค่าตอบแทนให้กับ กทม. ตั้งแต่ช่วงต้นปี หรือ ช่วงเดือน ม.ค. 2561 ค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ 17 ล้านบาท จนปัจจุบันรวมเป็นเงินจำนวนเกือบ 200 ล้านบาท โดยเมื่อเดือน ส.คงที่ผ่านมาทางสำนักการจราจรขนส่งได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัท และมีการทวงถามหนี้ 3-4 ครั้ง แต่ไม่มีคำตอบกลับมา ดังนั้นทาง กทม.จึงได้แจ้งยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ให้ทางบริษัทหยุดการติดตั้งป้ายโฆษณา พร้อมทั้งให้รื้อถอนและถอดป้ายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ผ่านมา แต่ทางบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังมีการใช้ประโยชน์จากป้ายโฆษณาอยู่ ดังนั้น กทม.เห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับทางราชการ จึงมีคำสั่งให้แต่ละสำนักงานเขตดำเนินการถอดป้ายที่ติดโฆษณาอยู่ทั้งหมด 1,070 ป้ายภายในวันศุกร์ที่ 26 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการได้เกือบ 100% แล้ว นอกจากนี้จะดำเนินการทางกฎหมาย โดยการฟ้องทางแพ่งกับบริษัท เพราะทำให้ กทม.เสียหาย ซึ่งทางขณะนี้ทางสำนักกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่



นายสกลธี กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ทางบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้กับ กทม.นั้น อ้างเหตุผลว่าทาง กทม.ผิดสัญญาในการส่งมอบป้าย จากกรณีที่ กทม.ส่งป้ายให้ไม่ครบ สืบเนื่องจากเดิมตอนที่บริษัทชนะสัมปทานได้ป้ายไป มองว่า การส่งมอบป้ายของ กทม.ยังขาดอุปกรณ์ภายในซึ่งเป็นไฟส่องสว่าง แต่ตามที่ระบุในสัญญาแล้วอุปกรณ์ภายในไม่ได้อยู่ในข้อตกลง ซึ่งทางบริษัทจึงใช้เหตุผลดังกล่าว เพื่อจะนำไปหักกลบลบหนี้ได้ แต่ทาง กทม. มองว่า คนละส่วนกัน และขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในข้อพิพาททางกฎหมาย และยังศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่า กทม. ผิด ทางบริษัทจึงไม่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้ได้ สำหรับภาพรวมป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ใน กทม.ปัจจุบันมีทั้งหมด 3,000-4,000 ป้าย




นายสกลธี กล่าวอีกว่า ส่วนป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยทั่วไปเป็นป้ายที่ติดตั้งริมทางเท้า หรือ บนเสาไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นป้ายโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ เงินด่วน ซึ่งทาง กทม. ได้มีคำสั่งอย่างเข้มงวด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ได้ให้ทางสำนักเทศกิจเก็บและจับปรับมาโดยตลอด จากที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันสามารถเก็บป้ายที่ไม่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 50,000 กว่าป้าย และปรับได้เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านบาท แต่หลังจากนี้จะมีนโยบายเข้มงวดมากขึ้น เพราะผู้ที่ฝ่าฝืนยังไม่ลดน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการ มองว่า ค่าปรับน้อย ทำให้ยังฝ่าฝืน ซึ่งได้ให้นโยบายใหม่ให้ปรับเป็นรายป้าย จากเดิมปรับเป็นรายครั้ง แต่หากยังมีการฝ่าฝืน จะใช้นโยบายที่ให้แต่ละ สำนักงานเขตเชิญผู้ประกอบการมาคุย ให้หยุดกระทำ เพราะสิ่งที่ทำนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้ภูมิทัศน์ใน กทม. ไม่เรียบร้อย และบางครั้งก่อให้เกิดอันตราย เพราะบดบังการจราจร