พบเอกสารเก่าบันทึกสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

2018-10-19 19:00:16

พบเอกสารเก่าบันทึกสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

Advertisement

หอจดหมายเหตุจันทบุรีพบเอกสารเก่าบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รวมถึงหนังสือทะเบียน ชื่อ-สกุลบรรพบุรุษ ซุกจอมปลวกใต้ถุนอาคาร หวังผลักดันเลื่อนชั้น เป็นมรดกความทรงจำโลก

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนท่าหลวง ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังในสื่อโซเชียลมีการแต่แผ่ กรณี หอจดหมายเหตุจันทบุรี ได้บังเอิญไปพบเอกสารเก่า บันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ2 รวมทั้งช่วงสงครามเย็น ตลอดจนหนังสือบันทึกทะเบียน ชื่อ-สกุล บรรพบุรุษชนชาวหัวเมืองจันทบูร ซุกอยู่ในฐานจอมปลวกใต้ถุนอาคาศาลากลางจังหวัดหลังเก่า โดยทางหอจดหมายเหตุได้นำเสนอ หลักฐานข้อมูลต่อกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็น มกรดกความทรงจำระดับท้องถิ่น หวังผลักดันเป็นมรดกความทรงจำโลก



ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ไปพบกับ นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เพื่อสอบถามข้อมูล ซึ่ง นางสุมลฑริกาญจณ์ ได้เปิดเผยในเบื้องต้นว่า กระแสข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง พร้อมได้พาไปดู เอกสารบันทึกตัวจริง ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายในห้องที่มีการปรับอุณหภูมิเฉพาะ





ขณะที่ นางสุมลฑริกาญจณ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เปิดเผยว่าการค้นพบครั้งนี้ เป็นความบังเอิญ ในขณะที่เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ ได้เข้าไปตรวจสอบ เพื่อดำเนินการขนย้าย คัดแยก พร้อมทั้งประเมินคุณค่าความสำคัญของเอกสารต่างๆ ภายใต้ถุนอาคารศาลากลางหลังเก่า ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือเรียกว่า ศาลาว่าการมณฑลจ.จันทบุรี ซึ่งต่อมา ได้มีการบำรุงซ่อมแซมจนกลายเป็นอาคารหอจดหมายเหตุ จันทบุรี ในปัจจุบัน โดยขณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบ ได้ไปพบกับ เอกสารเก่าบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อยู่ภายในใต้ถุนอาคาร รวมถึงหนังสือทะเบียน ชื่อ-สกุล บรรพบุรุษ จำนวน 3 เล่ม ที่โผล่ออกมาจากฐานจอมปลวกใต้ถุนอาคาร ซึ่งการค้นพบเอกสารสำคัญในครั้งนี้ เป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่สุดในชีวิตเหมือนกับเจอกรุมหาสมบัติ ที่ได้มีโอกาสค้นพบทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร



สำหรับ เนื้อหาเอกสารที่พบ โดยสรุปเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก ไม่มีที่ไหนแล้ว เป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522 เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรี ร่วมสงครามด้วย เป็นการตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย( มท.) กับ จ.จันทบุรี ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่





ส่วนเอกสารชุดถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิด ที่ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.ท่าใหม่ สร้างความเสียให้บ้านเรือน และเอกสารชุดถัดมาพูดถึงสงครามเย็น ทำให้รู้สภาวการณ์บ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างไทย เขมร ขณะเดียวกันยุคนี้คนไทยยังเริ่มมีการจดทะเบียนนามสกุล ของชาว จ.จันทบุรี จำนวน 3 เล่ม แยกเป็นหมวดหมู่ ก-ฮ รวมประมาณ 6,000 กว่านามสกุล โดยมีการตั้งนามสกุลสะท้อนสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ นามสกุล ริมคีรี , หนองบัวแดง ,หนองบัวขาว โดย นามสกุลแรก จดเมื่อปี 2457 ชื่อสกุล “กาญจนกิจ” รวมถึงทำให้ทราบว่า มีชุมชนญวนตะวันตก และ ญวนตะวันออก มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรี จำนวนมาก อาทิ อาทิ อันนัม , อานามวัฒน์ และ อานามนารถ

นอกจากนั้นยังมีเอกสารเก่า ที่เกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันทบุรี เริ่มจากชาวกุลา เข้ามาอาศัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทำบ่อพลอย นำมาสู่การเป็นแหล่งค้าพลอยเมืองจันท์ ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของจังหวัดจนถึงปัจจุบันซึ่งภายหลังจากการค้นพบในครั้งนี้ ทางหอจดหมายเหตุ ได้นำข้อมูลตลอดจนหลักฐาน รายงานและเสนอต่อทาง กรมศิลปากร ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของประเทศไทย ต่อคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้ในส่วนเอกสารเก่าที่ค้นพบ ได้ขึ้นเป็นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำ ระดับท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ ให้ทางหอจดหมายเหตุ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะยกระดับให้เป็น มรดกความทรงจำโลกของประเทศไทย