กกต.เข้ม! หาเสียงโซเชียลห้ามใส่ร้าย ส.นักข่าวฯ ย้ำไม่ส่งสมาชิกลง ส.ว.

2018-10-14 16:35:30

กกต.เข้ม! หาเสียงโซเชียลห้ามใส่ร้าย ส.นักข่าวฯ ย้ำไม่ส่งสมาชิกลง ส.ว.

Advertisement

กกต.เปิดเวทีทำความเข้าใจสื่อเรื่องการเลือกตั้งปี 62 อนุญาตพรรคหาเสียงผ่านโซเชียลได้ ต้องไม่ใส่ร้าย ด้านสมาคมนักข่าวเเสดงจุดยืน ไม่ขอส่งสมาชิกเข้าคัดเลือก ส.ว. เกรงผลประโยชน์ทับซ้อน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม ราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ "เตรียมความพร้อม ทำข่าวเลือกตั้ง 62" โดยมีพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กรรมการการเลือกตั้ง ,ร.ต.อ. ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี ,นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 ร่วมเป็นวิทยากร

โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิรูประบบพรรคการเมือง เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานพรรคการเมืองสมัยใหม่ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากกำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากผู้สมัคร ส.ส. จัดตั้งสาขาพรรคในแต่ละภาคและต้องมีทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท รวมถึงการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ต้องไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคต่อปี ทั้งนี้เพื่อป้องกันพรรคการเมืองถูกครอบงำจากนายทุนหรือกลุ่มนายทุน กระจายอำนาจให้สมาชิกมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อพรรคมากขึ้น ตลอดจนช่วยสร้างศรัทธาให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบพรรคการเมืองมากขึ้นด้วย และที่สำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ด้วยการปลูกฝังให้ประชาชนในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระกับหมู่บ้าน ตำบล เป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตยที่มีจิตสำนึก 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย การคิด วิเคราะห์ด้วยเหตุและผล มีจิตสาธารณะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม จิตสำนึกเกี่ยวกับการเคารพกฎหมาย/สิทธิผู้อื่น และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง ซึ่ง กกต.ได้ตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยตำบลขึ้น ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนและส่งเสริมการปฏิบัติได้จริง




สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการเลือกตั้ง กำหนดให้มีวันเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 8.00 น. -17.00 น.และมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อกระตุ้นให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่มีคุณภาพ มุ่งทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นพรรคจะไม่ได้รับคะแนนเสียงในพื้นที่นั้นๆ

ส่วนกรณีของการหาเสียงพรรคการเมืองสามารถหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่ กกต.กำหนด อีกทั้งต้องไม่เป็นในลักษณะใส่ร้ายผู้อื่น ขณะเดียวกันการติดป้ายหาเสียง กกต.กำลังพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัคร ส.ส.แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกัน แต่ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครจะได้รับหมายเลขต่างกัน ดังนั้นการติดป้ายหาเสียง จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ป้องกันความสับสน



เลขาธิการ กกต.กล่าวด้วยว่า การป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ต้องอาศัยประชาชนสอดส่องดูแล หากพบการทุจริต สามารถแจ้งเบาะแสได้ โดยมีรางวัลมอบให้และมีการคุ้มครองพยาน

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กรณีพรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม และเพื่อชาติอาจเป็นพรรคนอมินีกันจะเข้าข่ายผิดกฎหมายฮั้วการเมืองหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาลักษณะการครอบงำของพรรค ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการใช้อำนาจครอบงำหรือไม่ เเต่จากการพิจารณาในเบื้องต้น กรณีนี้อาจยังไม่เข้าข่าย เเต่หากพบข้อเท็จจริงว่าผิดจริง จะมีโทษต้องยุบพรรค

ด้านนายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย เเถลงท่าทีเเละจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดให้10 องค์กรลงทะเบียนส่งผู้สมัครการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 15-24 ต.ค.นี้ โดยหนึ่งในนั้นคือองค์กรสื่อมวลชนว่า สมาคมนักข่าวฯจะไม่ขอส่งสมาชิกในสังกัดเข้ารับคัดเลือกเป็น ส.ว. เพราะสมาคมยืนยันจะเป็นองค์กรที่สนับสนุนการตรวจสอบอำนาจรัฐของทุกฝ่าย เเละเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเเละผลประโยชน์ซับซ้อน จนทำให้การทำหน้าที่สื่อมวลชนไม่มีประสิทธิภาพ