“หมอยง” เตือนการบริจาค “น้ำนมแม่” สามารถแพร่โรคจากคนหนึ่งไปคนหนึ่งได้ ต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาคเพื่อลดความเสี่ยงของผู้รับ การตรวจครั้งที่ผ่านมาปกติ ไม่ได้บอกว่าวันนี้จะปกติ ยังมีโรคอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยเทคนิคปัจจุบัน ระบุ เลือด อวัยวะ สิ่งคัดหลั่งที่ออกจากมนุษย์ จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า การแจกจ่ายน้ำนมแม่ นมแม่มีคุณประโยชน์สำหรับลูกเรา อาจเป็นอันตรายสำหรับลูกคนอื่น น้ำนมแม่ถือเป็นชีววัตถุ เช่นเดียวกับเลือด น้ำเหลือง ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอวัยวะ ในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในมนุษย์จะมีเชื้อโรคหรือโรคซ่อนเร้นที่ทราบและไม่ทราบอีกเป็นจำนวนมาก เราจะเห็นว่าการบริจาคเลือด หรืออวัยวะ สิ่งคัดหลั่ง ทำไมจึงต้องมีการตรวจ ตั้งแต่ตอบคำถาม 20 ข้อ ไปจนถึงการตรวจเลือดอีกมากมาย ตรวจหาไวรัสต่างๆ เราอย่าคิดว่าเรา มีสุขภาพแข็งแรงแล้วจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ความถูกต้องของนมแม่จะต้องเป็น แม่ใครแม่มัน ไม่มีการให้กันเองโดยเด็ดขาด นอกจากมีธนาคารนมแบบธนาคารเลือด และความจำเป็นของนมก็ไม่ได้สูงแบบเลือด การตรวจกรองจึงไม่คุ้มเลย ในต่างประเทศ ถ้าเด็กหรือทารก ไปรับประทานนมผู้อื่นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะดูแลเด็กผู้นั้น แบบการสัมผัสโรคทางไวรัสทั้งหลาย หรือโรคเอดส์ทีเดียว ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ของเรา แปลกมาก มีการปั๊มนมแล้วชื่นชมกับการปั๊มนมเหลือเยอะแยะ แล้วเอามาบริจาค มีการชื่นชมกันมาก แสดงให้เห็นถึงสังคมไทย ยังไม่ได้เป็น “สังคมอุดมปัญญา”
ล่าสุดวันที่ 8 ต.ค. ศ.นพ.ยง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อีกครั้งระบุว่า การบริจาคน้ำนมแม่ ชีววัตถุ เช่น เลือด น้ำนมแม่ อวัยวะต่างๆ สามารถแพร่โรคจากคนหนึ่งไปคนหนึ่งได้ เลือด หรือ ชีววัตถุที่บริจาค ต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ถึงแม้ว่าบริจาคครั้งที่แล้วตรวจแล้วปกติ การตรวจเลือดจะรวมไปถึงตัวเลือดที่บริจาคด้วย ต้นทุนในการตรวจมากมาย HIV HCV HBV etc ตรวจถึง (NAT) DNA RNA ที่มีอยู่น้อยนิด โดยการตรวจสุขภาพจะไม่ตรวจกัน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้รับให้น้อยที่สุด การตรวจครั้งที่ผ่านมาว่าปกติ ไม่ได้บอกว่าวันนี้จะปกติ และยังมีโรคอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้ตรวจ หรือไม่สามารถตรวจได้ด้วยเทคนิคปัจจุบัน เหตุนี้ในน้ำนมก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นสารคัดหลั่ง และระหว่างปั๊ม อาจจะมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆที่มีเลือดซึมออกมาก็ได้
ขอยกตัวอย่าง ในอดีตที่ผ่านมา การผลิต growth ฮอร์โมน GH แต่เดิมใช้ต่อมใต้สมองของมนุษย์ปกติแข็งแรง ที่เสียชีวิตแล้ว เอามาสกัดเป็น GH เพื่อกระตุ้นความสูงให้กับเด็ก เป็นผู้บริจาคที่แข็งแรง ไม่มีโรค และตรวจไวรัสเท่าที่ทราบขณะนั้น ผลปรากฏว่าต่อมาในภายหลังที่ได้มีการใช้กันมานานกว่า 10 ปี ก็พบว่าผู้ที่ได้รับ HG เป็นโรคสมองฝ่อ CJD Creutrzfeldt-Jakob Disease มากกว่า 160 คน จึงรู้ว่าเกิดจากไวรัสที่โตช้า ที่ปนเปื้อนมาจากผู้บริจาค แต่กว่าจะรู้ ผู้รับก็ป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ มากกว่า 160 คน
อีกกรณีหนึ่ง คือการใช้น้ำเหลือง จากผู้บริจาคที่ได้มีการตรวจกรองอย่างดี มาทำเป็นเซรั่ม ป้องกันเกี่ยวกับตัวเหลืองในทารก ที่มีกลุ่มเลือดต่างกัน Rh incompatibility และทำอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรค เมื่อใช้ไปเป็นจำนวนมาก และต่อมาอีกหลายสิบปีต่อมาจึงรู้ว่า ผู้ที่ได้รับเป็นไวรัสตับอักเสบซี หลายพันคน เพราะตอนผลิตขณะนั้นไม่มีวิธีการตรวจไวรัสตับอักเสบซี จึงไม่ทราบ มีการแพร่กระจายโรคไปเป็นจำนวนมาก และมีการฟ้องร้องกันต่อมา
ตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือ วัวบ้า Mad cow disease ก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่สามารถแพร่ได้ทางชีววัตถุ เช่นเลือด น้ำนม ผู้รับอาจจะไปแสดงอาการในอีก 20 30 ปีข้างหน้า คนที่แข็งแรงดี ไม่ได้เป็นการรับประกัน จุลชีพ ที่อยู่ในร่างกาย และยังไม่แสดงอาการ
ตรวจเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าวันนี้ปกติเหมือนอาทิตย์ที่แล้ว จึงต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และบางโรคก็ทำได้ยาก และยังมีโรคที่ไม่รู้หรืออาจจะรู้ทีหลังเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้น ชีววัตถุ เช่น เลือด อวัยวะ สิ่งคัดหลั่งที่ออกจากมนุษย์ จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan