ผลสอบทุจริตเงินคนพิการไม่พบ จนท.บกพร่อง

2018-10-05 12:55:19

ผลสอบทุจริตเงินคนพิการไม่พบ จนท.บกพร่อง

Advertisement

รมว.แรงงานแถลงผลสอบทุจริตเงินคนพิการ พบผู้ประกอบการบางรายปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย แต่ไม่พบความบกพร่องและทุจริตของเจ้าหน้าที่ ย้ำผู้พิการหากพบข้อมูลความผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐจำนวนหลายแห่งขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 โดยในวันนี้ครบ 15 วัน ของการตรวจสอบ ซึ่งผู้ร้องขอให้ตรวจสอบจำนวน 9 เรื่อง และจากการตรวจสอบข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเฉพาะกรณีจากผู้ร้อง และกลุ่มผู้พิการที่มาให้ข้อเท็จจริงจำนวน 150 คน และการสอบข้อเท็จจริงสถานประกอบการ ผู้พิการในพื้นที่ ในชั้นนี้พบว่า มีข้อมูลบางส่วนเป็นไปตามที่ร้องเรียนมา แต่เป็นการปฏิบัติของผู้ประกอบการที่ไม่ครบถ้วนตามสัญญาการยื่นขอให้สิทธิ จำนวน 7 เรื่อง แต่ยังไม่พบความบกพร่องและทุจริตของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ มาตรา 33 พบ จำนวน 2 เรื่อง เป็นการจ้างไม่ครบระยะสัญญา และมาตรา 35 จำนวน 5 เรื่อง เป็นปฏิบัติไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญา เช่น จัดอบรมไม่ครบตามระยะเวลา จำนวนผู้พิการเข้าอบรมไม่ครบตามจำนวนที่แจ้ง ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนพิการ พ.ศ.2550 พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนพิการ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน



รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้พิการในประเทศไทยจำนวน 1.9 ล้านคน มีสถานประกอบการที่ต้องจ้างแรงงานผู้พิการ จำนวนทั้งสิ้น 64,570 คน โดยมาตรา 33 เป็นการจ้างงานโดยตรงระหว่างผู้พิการกับผู้ประกอบการจำนวน 36,315 คน กระทรวงแรงงานมีส่วนช่วยเหลือโดยการขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงาน และประสานส่งต่อเพื่อให้นายจ้างคัดเลือกและบรรจุงาน ในปี 2561 บรรจุงานได้ จำนวน 1,565 คน มาตรา 34 มีการส่งเงินเข้ากองทุน จากผู้ประกอบการประมาณ 1,200 แห่ง เป็นการทดแทนการจ้างผู้พิการ 14,623 คน รวมเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท/ปี (ปี 60) ซึ่งคิดอัตรา 1 คนเท่ากับ 109,500 บาท/คน/ปี ส่วนมาตรา 35 เป็นกรณีสถานประกอบการให้สิทธิผู้พิการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพ 7 ประเภท มีผู้พิการใช้สิทธิจำนวน 12,499 คน โดยของกระทรวงแรงงานร่วมดำเนินการในการพิจารณาเห็นชอบโครงการที่ผู้ประกอบการเสนอให้สิทธิแก่ผู้พิการคือ 1. กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเห็นชอบในการพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรการฝึกอบรม 2.กรมการจัดหางานตรวจสอบว่าคนพิการมีตัวตนจริงหรือไม่ 3.กรมการจัดหางานตรวจสอบผู้พิการรับทราบประเภทสิทธิ และมูลค่าที่จะได้รับจากการส่งเสริมอาชีพหรือไม่ 4.กรมการจัดหางานตรวจสอบว่าสิทธิที่ผู้พิการ จะได้รับจากการเข้ากิจกรรม หรือโครงการเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการยื่นขอสิทธิหรือไม่




รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการและผู้พิการที่มาให้ข้อมูลในครั้งนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของคนพิการ และขอฝากให้มูลนิธิ สมาคมและกลุ่มผู้ดูแลผู้พิการทั้งหลายได้ร่วมกันปกป้องสิทธิและประโยชน์ของผู้พิการ หากมีข้อมูล ข้อเท็จจริงใดๆ เกี่ยวกับความบกพร่องในการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ขอให้ผู้พิการซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อเท็จจริง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและปกป้องสิทธิและประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของผู้พิการ และดำเนินการกับผู้ปฏิบัติบกพร่อง หรือผู้มีพฤติกรรมทุจริตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป