10 เคล็ดลับตั้งชื่อสตาร์ตอัพให้โดน

2017-06-08 14:10:28

10 เคล็ดลับตั้งชื่อสตาร์ตอัพให้โดน

Advertisement

นับจากที่กิจการเล็กๆ ของตัวเอง หรือ สตาร์ตอัพ (Startup) กลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่มาตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเติบโตและพัฒนาการของนวัตกรรมสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และแอปพลิคชั่นต่างๆ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง ชนิดที่เพียงปัจจัยพื้นฐานอย่าง คุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายขายของอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว

                หากต้องสร้างจุดเด่นให้โดนกันนับตั้งแต่ปัจจัยแรกสุดของสินค้าและบริการ นั่นก็คือ “ชื่อ” ของแบรนด์สตาร์ตอัพของคุณนั่นเอง โดยเรามี 10 เคล็ดลับการตั้งชื่อสตาร์ตอัพให้โดดเด้งและประสบความสำเร็จมาฝากกัน



 ภาพ imtmphoto / Shutterstock.com


1. เลี่ยงชื่อสะกดยาก

 เคล็ดลับข้อแรกคือ ชื่อที่อ่านง่าย เขียนง่าย และสะกดง่าย เพราะคงหาชื่อซึ่งมีรูปแบบสะกดแบบเฉพาะตัวหรือสะกดยากๆ ไม่มากนักที่สามารถประสบความสำเร็จในระดับที่ “Flickr” ได้ ดังนั้นถ้าชื่อที่คิด(แล้วสะกดผิดสะกดยาก)ไม่เจ๋งจำง่ายจริงๆ ก็พึงหลีกเลี่ยง

2. งดชื่อที่จำกัดประเภทผลิตภัณฑ์

เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตข้างหน้า แบรนด์สตาร์ตอัพของคุณอาจจะขยับขยายแตกไลน์สินค้าและบริการออกไปมากกว่า 1-2 ไลน์ในปัจจุบันก็ได้ ดังนั้นชื่อที่ระบุถึงประเภทผลิตภัณฑ์แบบตรงตัวเกินไปอาจกลายเป็นข้อจำกัดของแบรนด์ในอนาคตได้เช่น “หนังสือออนไลน์” “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” หรือ “ชุดออกงาน” การปรับขยับความหมายเล็กน้อยเป็น “สื่อดีออนไลน์” “เมนูเส้น” หรือ “ปาร์ตีเดรส” ก็จะช่วยให้แบรนด์คุณดูเปิดกว้างรอการขยับขยายแบรนด์และไลน์สินค้าได้อีกมาก

3.  ชื่อนี้ไม่มีซ้ำบนอินเทอร์เน็ต

ด้วยโลกทุกวันนี้เริ่มแคบลง การที่ชื่อจะพบเจอแบรนด์ชื่อซ้ำกันในอีกจังหวัด อีกภาค หรืออีกประเทศ มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ดังนั้นเมื่อคิดชื่อที่โดนใจได้แล้วก็ลองนำไปพิมพ์ค้นหาในกูเกิลหรือยาฮูดู ถ้าไม่ซ้ำนั่นหมายความว่าคุณมีโอกาสเป็นเจ้าของชื่อว่าที่แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้แบบเบ็ดเสร็จ

4. ได้ชื่อรีบจดทะเบียนเว็บ

ต่อเนื่องจากเคล็ดลับข้อที่ 3 เมื่อได้ชื่อที่ไม่ซ้ำใครแล้ว ก็รีบนำชื่อไปจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กหรืออิสตาแกรมให้เรียบร้อย เพราะเมื่อสตาร์ตอัพของคุณเริ่มต้น มีโอกาสสูงที่เหล่าว่าที่ลูกค้าจะค้นหาข้อมูลจากชื่อแบรนด์คุณ ซึ่งยิ่งชื่อเว็บชื่อเพจหรือชื่อไอจีเป็นชื่อเดียวกับแบรนด์ โอกาสที่จะคนจะค้นชื่อเจอและอุดหนุนแบรนด์ก็ยิ่งสูงตามไปด้วย

5. ชื่อไม่มีความหมายแต่ได้ฟิล

แน่นอนว่าชื่อที่สื่อความหมายถึงประเภทและประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์และบริการย่อมเป็นผลดี ทำให้ลูกค้าเข้าใจและเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย กระนั้นทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เพราะอย่าลืมว่าแบรนด์อย่าง กูเกิล หรือยาฮู เองก็ไม่ได้มีชื่อที่มีความหมายหรือสื่อถึงผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด หากเป็นชื่อที่ติดหูติดตาและติดใจได้ง่าย ส่งผลให้ผู้ที่ได้เห็นได้อ่านรู้สึกเป็นมิตรกับแบรนด์เราได้ไม่ยาก ซึ่งหากให้อธิบายว่าทำไมถึงโดนก็คงตอบเป็นเหตุผลลำบาก เอาเป็นว่า “มันเป็นฟิลลิง!” จบนะ





ภาพ pixfly  / Shutterstock.com


6. ชื่อแตกต่างไม่ติ๊งต๊อง

แม้เราจะกล่าวข้อดีของชื่อดีที่อาจไม่มีความหมายกันไปในข้อก่อน แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อนั้นๆ ต้องไม่แปลก แหก และแหวกวงการ หรือหยาบคาย จนกระทั่งคนที่ทำงานกับคุณไม่กล้าที่จะบอกคนอื่นๆ ว่าสังกัดอยู่กับแบรนด์อะไร เช่น แบรนด์ “ไปไม่กลับ” หรือ “Pong-Taai”  อันนี้ก็ไม่น่าเวิร์ค ควรเปลี่ยนโดยพลัน

7.  เช็คฟีดแบ็กว่าชื่อนี้ดีชัวร์

พอได้ชื่อมาแล้ว ลองเอาไปแนะนำ ถามไถ่ความเห็นกับเพื่อน ครอบครัว คนในวงการเดียวกัน หรือกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าชื่อนั้นไม่นำมาซึ่งทัศนคติไม่ดีหรือมีความหมายในทางลบที่เราไม่รู้ เช่น เจเนรัลมอเตอร์เคยตั้งชื่อรถรุ่นหนึ่งว่า “โนวา (Nova)” โดยไม่รู้ว่าชื่อดังกล่าวนั้นมีความหมายว่า “ไม่ไป” ในภาษาสแปนิช

8. หาชื่อที่อ่านออกเสียงดี

 บางครั้งบางชื่ออาจดูดีเมื่อเขียนลงบนกระดาษ หรือป้าย แต่พออ่านออกเสียงแล้วกลับไม่เวิร์คอย่างแรง รวมถึงอาจชวนงงว่าชื่อดังกล่าวสะกดอย่างไรกันแน่ ดังนั้นเวลาตั้งชื่อแบรนด์อย่าเพียงคิดและเขียน หากต้องลองอ่านออกเสียงด้วยนะ

9. ค้นหาชื่อจากเหล่ากูรู

เหมือนกับที่มีคำกล่าวว่า สงสัยอะไรกูเกิลช่วยได้ เว็บไซต์ต่อไปนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย หากคิดนานแล้วยังไม่ได้ชื่อที่เหมาะใจเสียที VisualThesaurus.com, NameMesh.com , Naminum.com  

10. ชื่อนี้ที่คุณแฮปปี้

สำหรับเคล็ดลับข้อสุดท้ายนี้มาจากการหาข้อมูลจากแหล่งที่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือ ใจของคุณเองว่า คุณแฮปปี้กับชื่อนี้หรือเปล่า ดังนั้นถามใจตัวเองให้ดีว่าแฮปปี้กับชื่อนี้ไหม เพราะต่อให้ชื่อมีคุณสมบัติตรงกับเคล็ดลับข้อก่อนๆ ที่กล่าวมา แต่ถ้าคุณไม่ชอบมันก็เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ต้องอยู่กับแบรนด์นี้ไปตลอดอายุขัยของมัน