“บิ๊กตู่”ชี้ยกระดับบัตรทองดีกว่าเดิม

2018-09-28 21:15:16

“บิ๊กตู่”ชี้ยกระดับบัตรทองดีกว่าเดิม

Advertisement

“บี๊กตู่” ระบุ 30 บาท รักษาทุกโรค ยังคงมีความไม่สมบูรณ์ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพหลายอย่าง ที่ผ่านมารัฐบาลยกระดับ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้งเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ การให้บริการสารพัด

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ในขณะที่องค์การอนามัยโลก ชื่นชมประเทศไทย ว่าเป็น ต้นแบบ และ แหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 48.8 ล้านคน (73.7 %) จากจำนวนประชากร ราว 67 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพ ที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพในด้านการรักษาโรค ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่วาต่อว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค ยังคงมี ความไม่สมบูรณ์ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพ หลายประการ ได้แก่ 1.รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก 2.ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การผสมเทียม เพื่อมีบุตร การรักษากรณีที่มีบุตรยาก การบริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงามการเปลี่ยนแปลงเพศ เป็นต้น 3.ไม่คุ้มครองการรักษา ที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ เช่น โรคจิต หรืออาการป่วยทางจิต ซึ่งทางการแพทย์จำเป็นต้องรับไว้ เพื่อการรักษาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย โดยให้เป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 15 วัน กาบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมี พ.ร.บ. คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ. ให้ครบก่อนนะครับ 4.ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริงๆ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อน จึงต้องรักษายาวนานขึ้น




นายกฯกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลนี้ ได้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิและเพิ่มเติม ในเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์และการให้บริการต่างๆเพิ่มขึ้น อาทิ 1.การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ประสงค์มารับบริการในช่วงเย็น และสมัครใจจ่ายค่าบริการบางส่วนเอง 2.การเร่งรัดจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนทุกคน ในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐได้รับเหมือนกัน 3.รัฐบาลไทยสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 100 โดย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการดูแลผู้สูงอายุ 4.การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบาง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น 5.การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนิน "กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น" ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค

6.การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไก "กองทุนระบบการดูแลระยะยาว" ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมาก และค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และ 7.สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ UCEP สำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งในอนาคตเราจะขยายไปยังกองทุนต่างๆเพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษา พยาบาล ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค หรือเป็นความเสี่ยงของการดูแลรักษา ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต ทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาล



“นี่ก็เป็นการพัฒนาในด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย เราทำหลายอย่าง เรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เพราะในเมื่อเราตั้งขึ้นมาแล้ว ต้องทำให้ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่าๆให้ดีขึ้น แล้วมองไปข้างหน้า เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรในเรื่องเหล่านี้นะครับ เพราะมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้นทุกปี” นายกฯ กล่าว