คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบ ปลาสายพันธุ์ใหม่ 3 ชนิด อาศัยอยู่ในส่วนลึกที่สุดแห่งหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณ 7.5 กิโลเมตรจากผิวน้ำ โดยปลาที่พบรูปร่างโปร่งใส ไร้เกล็ด สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี กับสภาวะแรงกดดันมหาศาล ที่สามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดบนโลกได้ในทันที
รายงานระบุว่า ทีมนักวิจัยใช้กล้องถ่ายภาพใต้น้ำล้ำยุค ค้นพบปลาพันธุ์ใหม่ ที่ก้นแอ่งอตาคามา ทางซีกตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในระดับความลึก 7,500 เมตร (24,600 ฟุต) และสิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ มีปลาเหล่านี้มากมาย ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างนั้น
นายอลัน เจมีสัน อาจารย์อาวุโสภาควิชานิเวศวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล เผยว่า น่าประหลาดใจอย่างยิ่งที่พบปลาอาศัยอยู่ในระดับความลึกขนาดนั้น และมีจำนวนมากด้วย ปลาที่พบไม่เคยเป็นที่รู้จักกันมาก่อน มีขนาดความยาวลำตัว 20 - 25 เซนติเมตร ตัวโปร่งใส ไม่มีเกล็ด

ปลาที่พบ ซึ่งเรียกชื่อชั่วคราวว่า ปลาสเนลฟิช อตาคามาสีชมพูช น้ำเงินและม่วง ดูเหมือนจะปรับตัวเป็นพิเศษ ให้เข้ากับสภาพระดับความลึก 4 ไมล์ครึ่งใต้ผิวมหาสมุทร ที่ซึ่งบรรยากาศดำมืดตลอดกลาล และอุณหภูมิอยู่ที่เกือบ 2 องศาเซลเซียส และในระดับความลึกขนาดนี้ แรงดันจะมีมหาศาล ซึ่งบรรดาสัตว์ขนาดใหญ่จะถูกบดขยี้ภายใต้มวลของพวกมัน "มันเหมือนกับเอาลูกเหล็กหนัก 800 กิโลกรัม วางบนนิ้วเล็กๆ ของคุณ" เจมีสัน กล่าว
คณะนักวิจัยเชื่อว่า ปลาที่พบวิวัฒนาการเพื่ออาศัยบนพื้นทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงการล่าของสัตว์ที่ใหญ่กว่า