วสท.นำเครื่องสแกน 3 มิติตรวจหอระฆังถล่ม

2018-09-26 16:20:00

วสท.นำเครื่องสแกน 3 มิติตรวจหอระฆังถล่ม

Advertisement

เจ้าหน้าที่นำเครื่องสแกน 3 มิติ ตรวจสอบสภาพหอระฆังวัดพระยาทำวรวิหาร ถล่มทับคนเจ็บและเสียชีวิต เร่งหาวิธีค้ำยัน



จากกรณีหอระฆังโบราณของวัดพระยาทำวรวิหาร ภายในซอยอรุณอัมรินทร์ 15 เขตบางกอกน้อย กทม. ถล่มลงมาทับคนงานบาดเจ็บ 11 รายเสียชีวิต 1 ศพ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ได้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผอ.เขตบางกอกน้อยและอธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์และร่วมกันหาวิธีค้ำยันองค์เจดีย์เพื่อไม่ได้ทรุดตัว หรือ เสียหายเพิ่มขึ้น





ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล รอง ผอ.โครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า จากการประเมินด้วยสายตา สภาพเจดีย์ไม่น่าจะมีความเสี่ยงไปมากกว่านี้ ส่วนตัวเครื่องสแกน 3 มิติจะทำหน้าที่ช่วยวัดจัดเก็บพิกัดภาพรวมมิติรูปทรงของวัสดุด้วยเลเซอร์ ก่อนนำข้อมูลเข้าโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินผลหารอยร้าวของพื้นผิวเจดีย์ และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ผ่านมาเครื่องดังกล่าวถูกนำไปใช้ในงานวิจัยและมีผลที่น่าพอใจมาก



ด้าน นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผอ.เขตบางกอกน้อย เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต โดยในเหตุการณ์นี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่นำส่ง รพ.ศิริราชทั้งหมด 11 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะนี้ทางเขตบางกอกน้อยเตรียมหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับทางกรมศิลปากร เพื่อดำเนินคดีและหาผู้รับผิดชอบ ส่วนจะมีการปิดล้อมพื้นที่เจดีย์ขยายเพิ่มหรือไม่นั้นต้องรอผลการตรวจสอบจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์





ขณะที่ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ทางกรมศิลปากรได้มีการกำหนดการปฎิบัติงานทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือขั้นแรก การค้นหาสาเหตุ ตอนนี้เมองเห็นปัญหาแล้ว แต่ต้องรอผลตรวจสอบที่แน่ชัด ขั้นสองคือมาตรการคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดการเสียหายเพิ่มเติมโดยการหาวิธีค้ำยันเจดีย์ในเชิงวิศวกรรม และจัดทำโครงสร้างใหม่ เนื่องจากเจดีย์มีความเก่าแก่ มีความเสียหายจึงไม่สามารถกลับคืนสู่โครงสร้างเดิมได้ สุดท้ายมาตรการอนุรักษ์บูรณะปฏิสังขรณ์ โดยจะทำการยกตัวองค์เจดีย์ที่จมดินขึ้น 1.30 เมตรเทียบเท่าพื้นถนนปกติ จากนั้นจะทำการเสริม ตกแต่ง เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด ยอมรับว่าการทำงานของทางกรมศิลปากรที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ขึ้น จึงต้องเร่งทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง นอกจากนี้ด้านความรู้สึกของประชาชนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทางกรมศิลปากรจะลงพื้นที่ไปพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและจะบรูณะให้กลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงมากที่สุด