ศึกษาชี้ อากาศเป็นพิษเกี่ยวข้องสมองเสื่อม

2018-09-19 18:45:07

ศึกษาชี้ อากาศเป็นพิษเกี่ยวข้องสมองเสื่อม

Advertisement

นักวิจัยเผยผลการศึกษาในวันพุธว่ามลพิษทางอากาศภายในเมืองซึ่งส่วนมากจะมาจากยานพาหนะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม


ภาพ AFP



เหล่านักวิจัยรายงานบนวารสารทางการแพทย์บีเจเอ็มโอเพนว่าพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและโรคสมองเสื่อม และความเสี่ยงนี้ก็ยังคงมีอยู่แม้จะตัดปัจจัยความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมอย่างการดื่มจัด การสูบหรี่และความเสี่ยงอื่น ๆ ออกไปแล้ว

ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีราวร้อยละ 7 ทั่วโลกป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือมีอาการสมองเสื่อมอื่น ๆ และอัตราผู้ป่วยก็สูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 ด้วยสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี และคาดว่าตัวเลขก็จะสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปีพ.ศ. 2593 อันถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ต่อระบบสาธารณสุข




ภาพ  Jeff Zehnder / Shutterstock.com

สารเคมีที่ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสียอย่างก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และเขม่า เป็นปัจจัยหลักที่รู้กันอยู่แล้วว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตกและปัญหาการหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหอบหืด แต่ประเด็นที่ว่ามลพิษเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ หรือไม่ ยังไม่แน่ชัด

และเพื่อหารายละเอียดมากขึ้น ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยเลน แครีย์จากสถาบันวิจัยสุขภาพประชากร (Population Health Research Institute) ของมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน จึงทำการเก็บข้อมูลของประชาชนอายุระหว่าง 50 ถึง 79 ปีที่อาศัยอยู่ในเกรเทอร์ลอนดอนจำนวน 131,000 คนเมื่อปีพ.ศ. 2547 ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครแสดงสัญญาณของโรคสมองเสื่อมออกมา




ภาพ NarongchaiHlaw / Shutterstock.com

นักวิทยาศาสตร์ประมาณระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ที่ประชาชนเหล่านี้จะพบทุก ๆ ปี จากนั้นก็ติดตามสุขภาพของผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นเวลา 7 ปี และผลปรากฏว่าผู้ป่วยเกือบ 2,200 คนหรือร้อยละ 1.7 ของทั้งหมด ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

โดย 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่อาศัยอยู่พื้นที่ที่มีมลพิษสูงมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้ป่วย 1 ใน 5 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีไนโตรเจนไดออกไซด์และ PM2.5 ต่ำถึงร้อยละ 40



อย่างไรก็ตาม การศีกษามาจากการวิเคราะห์ข้อมูลภายหลัง ไม่ใช่การทดลองทางเทคนิคภายใต้แวดล้อมการทดลองที่ถูกควบคุม จึงไม่สามารถมีบทสรุปที่แน่ชัดได้ว่าเป็นเหตุและผลต่อกัน แต่ทีมวิจัยยืนยันเต็มที่ว่าผลผลิตที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันสามารถสร้างความเสียหายต่อการทำงานของสมอง