เธอคือเมโลดี้! หมู่บ้านอินเดียเรียกกันด้วยทำนองแทนชื่อ

2018-09-18 13:15:03

เธอคือเมโลดี้! หมู่บ้านอินเดียเรียกกันด้วยทำนองแทนชื่อ

Advertisement

เสียงผิวปากและฮัมเพลงดังไปทั่วป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน Kongthong ในพื้นที่อันห่างไกลของประเทศอินเดีย แต่นี่ไม่ใช่เสียนกร้องธรรมดาทั่วไป



หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในรัฐเมฆาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยเหล่าคุณแม่ในหมู่บ้าน Kongthong และหมู่บ้านอื่น ๆ อีกไม่กี่แห่งในบริเวณนี้สร้างทำนองเพลงขึ้นมาให้ลูก ๆ แต่ละคนโดยเฉพาะ ทุกคนในหมู่บ้านชาวกาสีแห่งนี้จึงเรียกกันด้วยทำนองเพลงสั้น ๆ ของแต่ละคน และจะเรียกอย่างนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีชื่อ “จริง ๆ” กัน แต่แทบจะไม่ได้ใช้เลย




แม่จะเรียกลูกชายของเธอจากอีกฝั่งให้กลับบ้านมาทานอาหารค่ำด้วยเสียงเพลง ขณะที่เด็ก ๆ เล่นกันสนุกโดยใช้ภาษาเพลงสุดแปลกของพวกเขาเอง Pyndaplin Shabong คุณแม่ลูกสามบอกว่า “การแต่งทำนองเพลงออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ มันแสดงความสุขและความรักที่ฉันมีต่อลูก” โดยหากว่าลูก ๆ ทำให้โกรธหรือทำอะไรผิดจึงจะเรียกด้วยชื่อจริงของพวกเขา




หมู่บ้าน Kongthong ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยต้องเดินเขาหลายชั่วโมงกว่าจะถึงเมืองที่อยู่ใกล้ที่สุด ขณะที่ไฟฟ้าก็เพิ่งมีใช้เมื่อปี 2543 และทางลูกรังก็เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนด้วย

เวลาอยู่ในป่า ชาวบ้านจะส่งเสียงเรียกชื่อเพลงของแต่ละคน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสียงตามธรรมชาตินานราว 30 วินาที โดย Rothell Khongsit ผู้นำชุมชนกล่าวว่า “เราอยู่ในหมู่บ้านอันห่างไกล เราถูกล้อมรอบไปด้วยป่าทึบและเนินเขา เพราะฉะนั้นเรามีการติดต่อกับธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอันงดงามต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงสร้าง”



การเรียกชื่อด้วยทำนองเพลงนี้เป็นธรรมเนียมที่เรียกว่า “jingrwai lawbei” หรือแปลว่า “เพลงของหญิงคนแรกแห่งเผ่าพันธุ์” ซึ่งหมายถึงพระแม่ในตำนานของชาวกาสี โดยพื้นที่ในอินเดียแห่งนี้เป็นสังคมแม่ ซึ่งดินแดนและทรัพย์สินจะถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกสาว และสามีจะต้องย้ายเข้ามาอยู่กับภรรยาและใช้ชื่อของเธอ



Khongsit กล่าวว่า “เราถือว่าเป็นแม่ เป็นเทพธิดาของครอบครัว แม่จะดูแลครอบครัว หลังจากที่ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษของเรา” แต่ Tiplut Nongbri นักมานุษยวิทยา อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Jamia Millia Islamia ในเดลีกล่าวว่านี่เป็นสังคมปิตาธิปไตยที่ซ่อนอยู่ โดยกล่าวว่า “ผู้หญิงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เดิมทีพวกเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ กฎแบ่งแยกชัดเจนมากระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย” และกล่าวว่า “การดูแลลูก ๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง เรื่องของรัฐและอะไรทั้งหมดนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชาย”

ภาพ AFP