เผยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 17 เดือน 2.4 หมื่นราย

2018-09-16 10:16:29

เผยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 17 เดือน 2.4 หมื่นราย

Advertisement

สปสช.เผยผลสรุป 17 เดือน นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2.4 หมื่นราย ยอดจ่ายชดเชยค่ารักษา 489 ล้านบาท รพ.เอกชน สนับสนุนนโยบายสำเร็จ


เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากที่รัฐบาล โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้ผลักดันและดำเนินนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วในเวลาที่จำกัดยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด มุ่งลดภาวะความพิการและอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตนี้ โดยมอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ






จากรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2561 มีการบันทึกข้อมูลการเบิกชดเชยค่ารักษาพยาบาลผ่าน สปสช.จำนวน 24,416 ราย มีการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล 489 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15,780 ราย สวัสดิการข้าราชการจำนวน 4,277 ราย ประกันสังคมจำนวน 3,384 ราย





นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาในช่วงฉุกเฉินวิกฤต โดยไม่ต้องมีภาระค่ารักษาพยาบาลในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ตลอดระยะเวลา 17 เดือนของความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความร่วมมืออันดีของโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินนโยบายนี้ จนบรรลุหลักการและเป้าหมาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการ ณ จุดเกิดเหตุที่ใกล้ที่สุดได้ ขณะที่ยอดการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลถือว่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการดูแล