หลังเที่ยงคืนวันที่ 10 ก.ย.นี้ อย่าพลาดชมปรากฎการณ์ "ดาวหางจี-แซด" โคจรเข้าใกล้โลก-ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด หากพลาดชมต้องรอไปจนถึงปี 2568
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (สดร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10-11ก.ย.2561 ‘ดาวหางจี-แซด’ (21P/Giacobini-Zinner : G-Z) จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดและยังเป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดอีกด้วย
ปรากฎการณ์นี้จะเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 10 ก.ย.หรือเวลาประมาณเที่ยงคืน 15 นาที ของวันที่ 11 ก.ย. คาดว่าจะมีค่าความสว่างปรากฏสูงสุดระดับ 7 ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก กำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าขึ้นไป เพื่อให้เห็นดาวหางชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนกันยายน ดาวหางจี-แซด จะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณกลุ่มดาวสารถี จากนั้นช่วงกลางเดือนจะค่อยๆ เคลื่อนมาทางทิศตะวันออก เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์ คือวันที่ 10-11 ก.ย. สามารถมองเห็นได้จนถึงรุ่งเช้า
สำหรับดาวหางจี-แซด เป็นดาวหางคาบสั้น มีคาบการโคจรประมาณ 6 ปีครึ่ง ครั้งล่าสุดโคจรมาใกล้โลกเมื่อปี 2555 ปรากฎอีกครั้งในปีนี้ (2561) และหากพลาดชมครั้งนี้จะต้องรอไปจนถึงปี 2568 แต่อาจมีความสว่างลดลง เนื่องจากสูญเสียมวลสารจากการระเหิด เมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ จนมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ