สกัดเข้ม! อหิวาต์แอฟริกาในสุกร หวั่นลามเข้าไทยผ่านชายแดน

2018-09-09 14:00:14

สกัดเข้ม! อหิวาต์แอฟริกาในสุกร หวั่นลามเข้าไทยผ่านชายแดน

Advertisement

อธิบดีกรมปศุสัตว์มีหนังสือสั่งการด่วน ให้ด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้วทำการป้องกันและสกัดการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศกัมพูชา หลังองค์กรสุขภาพสัตว์โลกยืนยันพบ “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ระบาดในประเทศจีนจนต้องทำลายสุกรทิ้งไปหลายหมื่นตัว หวั่นลามเข้าไทยโดยผ่านกัมพูชาเข้ามาไทย

เมื่อเวลา 8.00 น.วันที่ 9 ก.ย. นายวิบูลย์ ศรีมั่นคงธรรม หัวหน้ากลุ่มด่านกักกันสัตว์ที่ 2 ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือสั่งการด่วนจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ทำการตรวจเข้มเพื่อป้องกันและจับกุมการลักลอบนำเอาสุกรหรือซากสุกรจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทยทางด้านชายแดน จ.สระแก้วอย่างเข้มงวด หลังกรมปศุสัตว์ได้รับรายงานจากทางองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.61 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา(African Swine Feven)ที่เมืองเสิ่นหยาง มลฑลเหลียวหนิง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน


โรคอหิวาต์แอฟริกา(ASF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสทิ่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีสุกรป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บเป็นพาหะนำโรค โดยโรคนี้เป็นโรคแปลกถิ่น สำหรับประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่กระทบต่อเศษรฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูงเนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันแต่อย่างใด ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อโรคสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้ยังเป็นโรคร้ายแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอาการเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถติดต่อได้จากการที่สุกรสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งของสุกรป่วย โดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป การกินที่มีเชื้อปนเปื้อนรวมทั้งโดนเห็บที่มีเชื้อกัด เป็นต้น โดยมีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในใส้กรอกและซาลามี ซึ่งมีการบริโภคแบบไม่ปรุงสุกที่คนบริโภคไม่หมดแล้วนำไปเลี้ยงสุกร



การระบาดของโรค ASF ในสุกรในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาครวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนมากับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเลี้ยงปศุสัตว์และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองสารวัตรและกักกัน พิจารณาแล้วเห็นควรให้ดำเนินการเข้มงวดตรวจสอบและอนุญาตให้การนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้อย่างเข้มงวด

ดังนั้นทางด่านกักกันสัตว์จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ทั้งในพื้นที่ จ.สระแก้วและตามแนวชายแดนประเทศกัมพูชาซึ่งมีระยะทางประมาณ 165 กม.จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ โดยการตั้งด่านตรวจสอบอยู่หลายจุดในพื้นที่ จ.สระแก้ว สำหรับการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์เข้าและออกนอกประเทศนั้น ทาง จนท.ด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้วได้ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบทุกขั้นตอนของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการนำเอาซากสัตว์จากฝั่งประเทศกัมพูชานั้น ทางด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้วจะไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศโดยเด็ดขาด หากมีการลักลอบนำเข้ามาทาง จนท.ด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้วจะทำการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายทันที



ส่วนทางด้านนายยุทธนา โสภี น.สพ.ชำนาญการพิเศษ ประจำด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้ว เปิดเผยว่าสำหรับอาการของสุกรที่เป็นโรคนั้นจะสังเกตได้จากร่างกายของสุกรมีสีแดงและหากอาการรุนแรงจะทำให้ใบหูและใต้ท้องมีสีคล่ำและอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษาและป้องกันโรคนี้แต่อย่างใด สำหรับโรคนี้ที่เกิดระบาดในประเทศจีนนั้นทาง จนท.ได้ทำลายสุกรที่ติดเชื้อโรคดังกล่าวไปแล้วหลายหมื่นตัว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือโรคดังกล่าวนี้อาจติดมากับอาหารประเภทผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่ยังไม่ผ่านความร้อน โดยล่าสุดพบโรคนี้ติดมากับไส้กรอกที่สนามบินอินซอล ประเทศเกาหลีแล้ว สำหรับการป้องกันและสกัดกั้นโรคดังกล่าวของ จนท.ด่านกักกันสัตว์ จ.สระแก้ว ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้ 4 แนวทางคือ 1.ตรวสอบสภาวะโรคระบาดของสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน จากสถานการณ์จริงในพื้นที่และข้อมูลจากองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) 2. กรณีการนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ.2544 อย่างเคร่งครัด 3.เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบหากพบความผิดปกติให้แจ้งด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว และ 4.เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ภายในประเทศที่จะนำออกราชอาณาจักร ที่สำคัญหากโรคดังกล่าวสามารถเข้ามาในประเทศไทยได้จะทำให้สุกรล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก