กลุ่มเภสัชกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เนื่องจากมีการ แก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด และประชาชนจะไม่ได้รับความปลอดภัยจากยา
ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เภสัชกรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบุคลากรคณะเภสัชกร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์กากบาท พร้อมถือป้ายการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยา เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการไม่ต้องการที่มีการร่าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับใหม่ ก.ค.2561)
รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส เครือข่ายเภสัชกรภาคอีสาน กล่าวว่า การที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ตนเองพร้อมกับเภสัชกรมองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความหละหลวม ละเลยความปลอดภัย และขาดการมีส่วนร่วม จนอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน เนื่องจากการแบ่งกลุ่มยาไม่เป็นตามหลักสากล ขัดกับเจตนารมณ์ในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ซึ่งต้องการแก้ไข เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยการแบ่งประเภทยาใหม่ในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าว ได้แก่ ยาควบคุมพิเศษ, ยาอันตราย, ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน ขณะที่หลักสากลในประเทศต่างๆ จะแยกกลุ่มยาเป็นยาตามใบสั่งยา ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาที่ประชาชน เลือกใช้เอง การแบ่งยาตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับดังกล่าวเป็นการย้อนกลับไปใช้การจัดกลุ่มยา ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ขณะที่การเสนอปรับแก้ไขกลุ่มยาในครั้งล่าสุด ก็เป็นไปตามหลักสากลและไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปใช้การแบ่งกลุ่มยาตามนิยามเมื่อปี 2510 อีก
เครือข่ายเภสัชกรภาคอีสานมองว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยา ไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้กับสถานพยาบาลของรัฐ หรือมีผลบังคับใช้ คุ้มครอง ดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฎิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐแต่อย่างใด แต่เป็นการบังคับให้ภาคเอกชน ดังนั้นหัวใจสำคัญคือความปลอดภัยของผู้บริโภคและผู้ป่วยที่จะมารับยา การออกกฎหมายจึงต้องเป็นไปเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัย ไม่ใช่เป็นเครื่องมือประนีประนอม ประโยชน์ระหว่างวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบยาและระบบสุขภาพอย่างร้ายแรงที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว เครือข่ายเภสัชกรภาคอีสานจึงขอคัดค้านและขอให้เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา ถอนร่าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับใหม่ ก.ค 2561) ไม่เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข