6 ชาวเอเชียดีเด่น คว้ารางวัลแมกไซไซ ปีนี้

2018-09-01 12:00:13

6 ชาวเอเชียดีเด่น คว้ารางวัลแมกไซไซ ปีนี้

Advertisement

เมื่อวานนี้ 6 บุคคลดีเด่นชาวเอเชีย ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม เข้ารับรางวัลรามอน แม็กไซไซ ซึ่งถือเสมือนหนึ่งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชีย ในปีนี้ ซึ่งรวมทั้งชาวกัมพูชาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ช่วยตีแผ่ความโหดร้ายป่าเถื่อนของเขมรแดง และจิตแพทย์ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้อนาถาตามท้องถนนที่มีอาการป่วยทางจิตหลายพันคน

ส่วนคนอื่น ๆ ซึ่งได้รับรางวันอันทรงเกียรตินี้ ในพิธีที่จัดขึ้นในกรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ ก็มีชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำในการเจรจรสันติภาพกับกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์, ชาวเวียดนามที่ล้มป่วยเป็นโรคโปลิโอ ซึ่งต้องต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ, ชาวติมอร์ตะวันออก ซึ่งสร้างศูนย์ช่วยเหลือคนยากจน ท่ามกลางความไม่สงบในสังคม และชาวอินเดีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ สอนหนังสือเด็กนักเรียนในหมู่บ้าน เพื่อช่วยให้เด็กสอบผ่าน

รางวัลแมกไซไซ ซึ่งประกาศไปเมื่อเดือนที่แล้ว ตั้งชื่อเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นายรามอน แมกไซไซ อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในเหตุการณ์เครื่องบินตกในปี พ.ศ. 2500




“ความพยายามทั้งหมดนี้ที่ผมพยายามมาหลายสิบปี ไม่สูญเปล่า มันได้รับการยอมรับ” ยุค ชาง วัย 57 ปี ซึ่งสูญเสียบิดาของเขา, พี่น้องร่วมสายโลหิตอีก 5 คน และญาติพี่น้องอีกเกือบ 60 คน ระหว่างการปกครองของรัฐบาลเขมรแดง และสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1970 เขารอดพ้นจากความตายเพราะลี้ภัยไปยังสหรัฐก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อเป็นหัวหน้าศูนย์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ให้ความรู้ถึงความรุนแรงที่น่าตื่นตระหนก และให้ความช่วยเหลือในการพิจารณาคดีก่ออาชญากรรมสงครามในกัมพูชาด้วย

ส่วนในอินเดีย ซึ่งมีผู้ไร้บ้านอยู่ประมาณ 400,000 คน ที่ต่อสู้กับปัญหาโรคจิต ภารัต วัตวานี จิตแพทย์ชาวอินเดีย เริ่มภารกิจในปี 2531 ซึ่งจนถึงขณะนี้ ได้ช่วยเหลือ, รักษาและคืนพวกเขาสู่ครอบครัวแล้วมากกว่า 7,000 คน



ในจำนวนผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซครั้งนี้ มีนายโฮเวิร์ด ดี นักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ รวมอยู่ด้วย เขาทำหน้าที่เป็นผู้แทนเจรจาของรัฐบาลฟิลิปินส์ ในการเจรจาสันติภาพกับกบฏคอมมิวนิสต์ในปีทศวรรษ 1990 และโว ธี ฮวง ชาวเวียดนาม ซึ่งติดเชื้อโปลิโอ เมื่อเธออายุได้เพียง 2 ขวบ และได้ช่วยตั้งกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นในปี 2548 สามารถช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำแล้วประมาณ 15,000 คน โครงการของเธอเกี่ยวข้องกับการให้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการด้วย

มาเรีย เดอ ลอร์ดส์ มาร์ตินส์ ครูซ จากติมอร์ตะวันออก ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้เข้าถึงสาธารณสุข, การศึกษา, การเกษตรและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในท่ามกลางการถ่ายโอนอำนาจไปสู่เอกราชที่ปั่นป่วนวุ่นวายของติมอร์ตะวันออกในปี 2544

ส่วนโซนัม วังชุก จากรัฐจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย ได้รับการยกย่องสำหรับการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย และตั้งแนวร่วมหนึ่งขึ้นมาในปี 2532 ซึ่งผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษา และช่วยติวเด็กนักเรียนในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจนเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถสอบผ่านได้