“ครูสอนโขน”แจงกระแสเขมรต้านโขนไทย

2018-08-31 13:40:34

“ครูสอนโขน”แจงกระแสเขมรต้านโขนไทย

Advertisement

“ครูสอนโขน” ระบุโขนแต่ละประเทศ มีรูปแบบ เอกลักษณ์ต่างกัน หากไทยนำโขนขึ้นมรดกโลก ถือไม่ผิด เพราะโขนไทยกับโขนเขมร คนละเรื่องกันอยู่แล้ว

จากกรณีข่าว กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ “โขน” ต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ในปี 2561 จนเกิดกระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์ของกัมพูชา มีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นเฟซบุ๊กแฟนเพจขององค์การยูเนสโก เรียกร้องให้พิจารณาว่าการแสดงโขน ไม่ใช่ของประเทศไทย



เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายทรงโรจน์ แสงมาลา ประธานสภาวัฒนธรรม อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นครูสอนโขน เปิดเผยกับทีมข่าวนิว18 ว่า คำว่า "โขน" ทุกประเทศในแถบทวีปเอเชีย มีการนำวัฒนธรรมทางจากประเทศอินเดีย เรื่องรามายณะ แต่รูปแบบหรือเอกลักษณ์การแสดงของแต่ละประเทศจะแตกต่างออกไป ดังนั้นจะบอกว่า โขนเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้ก็ไม่ถูก เพราะเป็นรูปแบบเฉพาะของใครของมัน นำมาดัดแปลงแตกต่างกันออกไป เท่าที่ทราบก่อนหน้านี้ โขนของเขมร เคยมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ภายหลังกลับจืดจางลงไป จนกระทั่งได้มีครูโขนจากประเทศไทยไปสอนแลกเปลี่ยนความรู้ ทำให้วัฒนธรรมโขนของเขมรกลับมาอีกครั้ง แต่ของไทยไม่เคยจืดจาง เพราะมีกรมศิลปากรคอยอุปภัมภ์ รวมถึงชุดโขน ลวดลายการถักปักร้อย ก็ปราณีตสวยงามกว่าประเทศใดๆ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของไทยดั่งเดิมอย่างชัดเจน ดังนั้นรูปแบบโขนของไทย หากจะนำไปจดเป็นมรดกโลก ก็ย่อมทำได้ และเชื่อว่ายูเนสโกจะตัดสินได้เอง ส่วนภายหลังหากมีการขึ้นมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว จะมีการประท้วงต่อก็ไม่น่ากลัว เพราะโขนไทย และโขนเขมร ก็คนละเรื่องกันอยู่แล้ว