ผลการศึกษาชิ้นใหม่ พบว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศ อาจทำให้ความสามารถในการรับรู้ลดลง โดยเฉพาะคนสูงอายุ ที่มีการศึกษาต่ำ ได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด
เสี่ยวโป จาง ผู้เขียนผลการศึกษาดังกล่าว จากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ หรือไอเอฟพีอาร์ไอ (IFPRI) และอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเปกิง กรุงปักกิ่งของจีน กล่าวกับยูโรนิวส์ว่า การวิจัยเรื่องมลภาวะทางอากาศที่มีอยู่ส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่ปัญหาสุขภาพ แต่ผลการศึกษาชิ้นนี้ แสดงให้เห็นผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพการรับรู้ หรือปัญญา ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย
บรรดานักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเปกิง และมหาวิทยาลัยเยล ได้สังเกตและศึกษาทักษะทางคณิตศาสตร์และทางการพูด ของตัวอย่างจากครอบครัวชาวจีนเกือบ 32,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 ปีระหว่างปี 2553-2557 เปรียบเทียบผลดังกล่าวกับการสัมผัสมลภาวะทางอากาศ พบว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศระยะยาว ทำให้พฤติกรรมการรับรู้ทั้งในการพูดและการคำนวณลดลง

โดยผลคะแนนทั้งด้านการพูดและการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ลดลงหากเผชิญกับมลพิษทางอากาศสะสมเพิ่มขึ้น และในกลุ่มผู้สูงอายุและมีการศึกษาน้อย คะแนนด้านการพูดลดลงโดยเฉพาะการออกเสียง นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศ ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณปีละ 7 ล้านคนทั่วโลก อีกทั้ง มลพิษทางอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคเสื่อมสภาพต่าง ๆ ด้วย เช่นอัลไซเมอร์ และโรคความจำเสื่อมแบบอื่น ๆ
องค์การอนามัยโลก บอกว่า 20 เมืองที่มีปัญหามลพิษมากที่สุด อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
