โฆษกกระทรวงยุติธรรมระบุไทยมีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต 447 ราย คดีฆ่าคนตายมากที่สุด ประหารครั้งสุดท้าย 24 ส.ค.2552 จนถึงปัจจุบันว่างเว้นมา 7 ปี 9 เดือน
ทั้งนี้ยังมีข้อค้นพบว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นคนยากจน และคนด้อยโอกาส ซึ่งไม่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถเพื่อให้ความรู้และแก้ต่างให้กับตนเองได้
นอกจากนี้นักมนุษยวิทยาเห็นว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การประหารชีวิตทุกวิธีก่อให้เกิดความทรมานต่อนักโทษอย่างแสนสาหัส ถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดเหล่านี้จะได้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วก็ตาม
ฉะนั้นหลักของการลงโทษนั้นต้องไม่ควรเป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทน แต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขและเยียวยาทั้งตัวผู้กระทำความผิดและเหยื่อน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
จากข้อมูล ณ เม.ย.2560 มีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมด 447 ราย จำแนกเป็น 1.คดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นนักโทษชาย 105 ราย หญิง 51 ราย, ชั้นฎีกา เป็นชาย 12 ราย หญิงไม่มี และในชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 55 ราย หญิง 13 ราย
2.คดีความผิดทั่วไป เช่น คดีฆ่าคนตาย อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นชาย 110 ราย หญิง 6 ราย, ชั้นฎีกาเป็นชาย 6 ราย ส่วนหญิงไม่มี และนักโทษชั้นเด็ดขาดคดีถึงที่สุดแล้ว เป็นชาย 85 ราย และหญิง 4 ราย จากสถิติดังกล่าวพบว่าโทษประหารชีวิตในคดีทั่วไปมีจำนวนมากกว่าคดียาเสพติดให้โทษ
นักโทษประหารจะถูกควบคุมจำแนกตามเรือนจำต่างๆ ดังนี้ 1. เรือนจำกลางบางขวาง 275 คน 2. เรือนจำกลางคลองเปรม 2 คน 3. เรือนจำกลางเขาบิน 19 คน 4. เรือนจำกลางสงขลา 31 คน 5. เรือนจำกลางพิษณุโลก 6 คน 6 เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 46 คน 7. ทัณฑสถานหญิงกลาง 57 คน 8. ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4 คน 9. ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 7 คน
การประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้านักโทษประหารชีวิตรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2545 ส่วนการประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดสารพิษตามกฎหมายใหม่ มีจำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2546 เป็นชาย 4 ราย นักโทษคดียาเสพติด 3 ราย คดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2552 เป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประหารชีวิตอีกเลย รวมเวลา 7 ปี 9 เดือน ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์กาสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต