แจง ด.ญ.11 ขวบแต่งงานอิหม่าม อายุ 17 ปีแล้วแจ้งเกิดช้า

2018-08-28 14:30:30

แจง ด.ญ.11 ขวบแต่งงานอิหม่าม อายุ 17 ปีแล้วแจ้งเกิดช้า

Advertisement

เลขานุการจุฬาราชมนตรี เผยกรณี ด.ญ.11 ขวบ แต่งงานกับอิหม่ามวัย 41 ปี ได้รับการยืนยันแล้วว่า  ด.ญ.คนดังกล่าวอายุ 17 ปี ไม่ใช่ 11 ขวบ เหตุมีการแจ้งเกิดช้า  สำนักจุฬาราชมนตรี ออกกฎห้ามเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะแต่งงาน เว้นแต่จะได้รับการยืนยันจากศาลเท่านั้น

จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวอิหม่ามวัย 41 ปี จากมาเลเซีย เข้ามาแต่งงานกับ ด.ญ.วัย 11 ขวบ ที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส นั้น

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี เปิดเผยกับ “นิว 18” ว่า ได้รับการยืนยันว่า ด.ญ.คนดังกล่าวมีอายุ 17 ปีแล้ว ไม่ใช่ 11 ขวบ ตามที่เป็นข่าว แต่เนื่องจากมีการแจ้งเกิดช้า นั่นแสดงให้เห็นว่าเด็กคนนี้บรรลุศาสนภาวะ หรือการมีรอบเดือนเรียบร้อยตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนสามีภรรยากับคู่สมรส





เลขานุการจุฬาราชมนตรี อธิบายถึงการแต่งงานในศาสนาอิสลาม ว่า การแต่งงานของฝั่ง 2 ฝ่าย ในกรณีของผู้ที่ไม่บรรลุศาสนภาวะ หรือการไม่มีรอบเดือน หรือ เพศชายที่ยังไม่หลั่งน้ำอสุจิ ต้องให้ผู้เป็นพ่อและปู่ เป็นผู้ตัดสินใจการสมรสตามความเหมาะสม แต่ห้ามมีเพศสัมพันธ์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นข้อบังคับทางศาสนา และก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก อย่างไรก็ตามหากทราบภายหลังว่า ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันก่อนบรรลุศาสนาภาวะ นั่นแสดงว่าผิดหลักศาสนาอิสลาม และต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

นายสุธรรม ยอมรับว่า การแต่งงานเด็กก่อนบรรลุศาสนาภาวะ ก่อให้เกิดปัญหาพอสมควร แต่เชื่อว่าไม่ใช่มุสลิมทุกคนไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติเอาไว้ เพราะเมื่อแต่งงาน ก็จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงมีหน่วยงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจอย่างละเอียดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากทุกฝ่ายจะลงมาแก้ปัญหาการแต่งงานเด็ก ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมาดำเนินการ แต่ขอให้เป็นไปอย่างจริงจัง และต้องใช้เวลาพูดคุยกันนานพอสมควร



ขณะเดียวกัน สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกกฎระเบียบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าการจะแต่งงานกับเด็ก ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ หรือ ตามกฎหมายไทยที่กำหนดอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ จะไม่ออกใบสมรสหรือใบรองรับใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่จะมีการยืนยันจากศาลเท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงแรก โดยกฎระเบียบนี้ จะครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่แต่งงานกับหญิงไทย ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากประเทศของตัวเองด้วย เพื่อสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส