ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตเตือนหลายจังหวัดฝนยังตกต่อเนื่อง คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยเหนือ อีสาน และใต้รวม 19 จังหวัด ชี้น่าน - แม่ฮ่องสอนฝนสะสม 24 ชั่วโมงสูงกว่า 100 มม.
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยง ว่าวันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 19 จังหวัด ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง และพังงา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก โดยภาคเหนือปริมาณฝนสูงสุดที่ จ.น่าน 133.0 มม. แม่ฮ่องสอน 129.5 มม. ลำพูน 88.5 มม. เชียงราย 84.5 มม. พะเยา 69.0 มม. ลำปาง 59.5 มม. ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี 55.0 มม. หนองคาย 52.2 มม. และ ภาคใต้ จ.ระนอง 92.5 มม.
สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุดในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 แห่ง เปรียบเทียบจากเมื่อวานนี้ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 755 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 5 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1 เมตร ลดลง 10 ซม. ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำลดลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 86 ซม. แนวโน้มลดลง ที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 35 ซม. แนวโน้มลดลง ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรียังที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าตลิ่งของคันกั้นน้ำเทศบาลลดลงเช่นกัน 2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 563 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 108% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 13.77 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.23 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 7.74 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.53 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,091 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 101 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 40 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.24 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 4 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 195 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับเมื่อวานนี้ คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 8.21 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.28 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.68 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.84 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 79 ซม. ลดลง 1 ซม. 5. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 322 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.17 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.62 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก ยังคงที่ 11.21 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีวันนี้จะสูงขึ้นไม่เกิน 25 ซม.
“ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ ทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยปัจจุบันอ่างฯที่ความจุเกิน 100% แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 108% เขื่อนแก่งกระจาน 106% ขนาดกลาง 27 แห่ง ขณะที่อ่างเฝ้าระวัง 80-100% ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ 89% เขื่อนวชิราลงกรณ 91% เขื่อนรัชชประภา 87% เขื่อนขุนด่านปราการชล 87% เขื่อนปราณบุรี 82% ขนาดกลาง 53 แห่ง ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำนครนายก แม่น้ำยังที่ อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีระดับสูงกว่าระดับตลิ่งแล้ว”นายสำเริง กล่าว